กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – สหภาพฯ กฟผ.รณรงค์พนักงาน กฟผ.แต่งดำ คัดค้าน MOU รัฐมนตรีพลังงานชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ สร.กฟผ.ได้รณรงค์ให้พนักงาน กฟผ.ทั้งหมดแต่งชุดดำและส่วนหนึ่งจะเดินทางมายังกระทรวงพลังงานในช่วงเช้า เพื่อคัดค้านกรณีที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ใช้อำนาจเกินหน้าที่ไปลงนาม (MOU) กับเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา โดยให้ถอนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และให้มีการศึกษาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ภายใน 90 วัน
“สิ่งที่เราคัดค้านคือการใช้อำนาจของรัฐมนตรีพลังงานไปลงนามโดยฝ่ายเดียวไม่ถูกต้องควรจะต้องเป็นเรื่องของคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นายศิริชัย กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาของ กฟผ.ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เป็นไปตามคำสั่งของทั้ง ครม.และนายกรัฐมนตรีภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม.ทั้งสิ้น ดังนั้น การไปลงนามชะลอของ รมว.พลังงาน จึงเป็นการใช้อำนาจที่เกินเลยหน้าที่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังจากรัฐมนตรีพลังงานไปลงนามเอ็มโอยูกับกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561แล้ว รัฐมนตรีพลังงานได้ทำหนังสือถึง กฟผ. ดำเนินการตามเอ็มโอยูดังกล่าว กฟผ.จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ขอถอนผลการศึกษาอีไอเอและอีเอชไอเอโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือเทพา และยุติการศึกษาอีเอชไอเอและอีไอเอ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือของโครงการกระบี่ โดยยุติการจัดรับฟังความเห็นที่มีการนัดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนที่กระบี่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และกำลังรอนโยบายว่า SEA ใน 9 เดือนนี้จะดำเนินการอย่างไร
นายภิญโญ มีชำนะ อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่านับจากนี้ไปโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินคงเกิดได้ยาก และรับทราบว่าข้าราชการของ สผ.เองก็หนักใจ เพราะโครงการขนาดใหญ่เงินลงทุนเกือบ 200,000 ล้านบาท ล้มลงอย่างง่ายดาย ปัญหาจะตามมาอีกมากโดยเฉพาะความเชื่อมั่นการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ซึ่งกรณีที่รัฐมนตรีพลังงานระบุว่าจะตั้งคณะทำงาน ศึกษา SEA โดยมีคนกลางเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็ขอถามว่ารัฐบาลจะตั้งใคร เพราะที่ผ่านมาเคยมีตั้งคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งตนก็ร่วมเป็นกรรมการแต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มต่อต้านก็ไม่ยอมรับผลการศึกษา
“โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่- เทพา ทำตามข้อกำหนดกฎหมายทั้งหมดศึกษาอีไอเอ อีเอชไอเอ ศึกษามานานหลายปี หลายรอบ กำลังผลิต 2,800 MW เงินลงทุนเกือบ 200,000 ล้านบาท แต่รัฐมนตรีพลังงานไปลงนามกับกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ก็เป็นคำถามว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ขนาดนี้ยังล้มได้ง่ายดาย แล้วโครงการลงทุนใหม่ ๆ จะเกิดได้อย่างไร” นายภิญโญ กล่าว. – สำนักข่าวไทย