กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – รฟท.มั่นใจเดินหน้าก่อสร้างรถไฟสายใหม่เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ตามกรอบเวลา หลังผ่านการอนุมัติ ครม.เดือนมีนาคมนี้
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวแสดงความมั่นใจว่า งานก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่เส้นแรกและเป็นรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ จะสามารถเดินหน้าได้ตามแผน หลังผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากการรถไฟฯ เตรียมข้อมูลการดำเนินการครบถ้วนแล้ว โดยช่วงแรกจะเป็นการเดินหน้าจัดการเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาช่วงนี้ไม่เกิน 1 ปี และมั่นใจว่าการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะไม่เกิดปัญหาล่าช้าเหมือนโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาการลงพื้นที่สำรวจและทำความเข้าใจกับประชาชนในแนวเส้นทาง ส่วนใหญ่เข้าใจและสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้น โดยมั่นใจว่าการเกิดขึ้นของทางรถไฟสายใหม่นี้จะนำไปสู่การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทำให้มีเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่วนโครงการรถไฟสายใหม่อีก 1 เส้นทาง คือ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม มูลค่าการลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติดำเนินการกลางปี 2561 ซึ่งจะเตรียมความพร้อมเรื่องงานก่อสร้างต่อไป
สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เป็นการพัฒนาโครงข่ายและระบบการขนส่งทางรถไฟที่ช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และประเทศจีนตอนใต้ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจาย ความเจริญไปสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดแพร่ พะเยา เชียงราย
ทั้งนี้ ลักษณะโครงการเป็นแนวเส้นทางมีระยะทางรวมประมาณ 323 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางใหม่เพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด คือ แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย มีการก่อสร้างอุโมงค์ 26.9 กิโลเมตร มีสถานีตามเส้นทาง 26 สถานี เป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี ประกอบด้วย สถานีเด่นชัย, สถานีสูงเม่น, สถานีแพร่, สถานีหนองม่วงไข่ ,สถานีหนองเสี้ยว, สถานีสอง,สถานีแม่ตีบ ,สถานีงาว ,สถานีปงเตา, สถานีมหาวิทยาลัยพะเยา, สถานีบ้านโทกหวาก, สถานีพะเบส, สถานีดงเจน, สถานีบ้านร้อง, สถานีบ้านใหม่ ,สถานีป่าแดด, สถานีป่าแงะ, สถานีบ้านโป่งเกลือ, สถานีบ้านสันป่าเหียง, สถานีเชียงราย, สถานีทถางก่อ, สถานีเวียงเชียงรุ้ง, สถานีชุมทางบ้านป่าซาง, สถานีบ้านเกี๋ยง, สถานีศรีดอนชัย, สถานีเชียงของ เส้นทางมี Container Yard (CY) จำนวน 5 แห่งที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด สถานีเชียงราย และสถานีเชียงของ พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ จึงต้องทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดเส้นทางในเขตทาง 50 เมตร ส่วนการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟและทางรถยนต์ลอดใต้ทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ – รถยนต์ ประกอบด้วย ถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) 40 แห่ง, ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 102 แห่ง ผลการศึกษาค่า FIRR = 1.02% ค่า EIRR = 13.31% มูลค่าการก่อสร้าง 76,978.82 ล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 48 เดือน
ทั้งนี้ การก่อสร้างทางรถไฟเส้นใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่- นครพนม ถือเป็นการเปิดเส้นทางระบบรางเข้าสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่มีระบบคมนาคมทางรางมาก่อนและเป็นแผนในโครงการรถไฟทางคู่ 9 โครงการมูลค่ารวมกว่า 390,435 ล้านบาท ประกอบด้วยรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วง 1.ปากน้ำโพ-เด่นชัย มูลค่า 56,066.25 ล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 35,893.74 ล้านบาท 3.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 26,065.75 ล้านบาท 4.ช่วงชุมพร- สุราษฎร์ธานี มูลค่า 23,384.91 ล้านบาท 5.ช่วงสุราษฎร์-หาดใหญ่สงขลา มูลค่า 51,823.83 ล้านบาท 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ มูล ค่า 59,924.24 ล้านบาท 7.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 76,978.82 ล้านบาท 8.ช่วงบ้านไผ่นครพนม มูลค่า 60,351.91 ล้านบาท และ 9.หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 7,941.80 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย