กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – รมว.พลังงานวอนทุกฝ่ายเข้าใจทบทวนกระบี่- เทพา เพราะอยากเห็นความปรองดอง ย้ำ 5 ปีนี้ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ในภาคใต้ ชี้ป้ายเรียกร้องลาออกกระทบจิตใจ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในระหว่างการพบปะสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขอให้สื่อช่วยทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน “กระบี่- เทพา” ว่า การที่ลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยูในการทบทวนโครงการ โดยให้มีการศึกษายุทธเชิงพื้นที่ (SEA) ภายใน 9 เดือน โดยให้มีคนกลางเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาเป็นผู้ดำเนินการแล้วรับฟังความเห็นรอบด้าน ก็เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดความปรองดองไม่ขัดแย้ง ซึ่งหากมีข้อตกลงเดินหน้าหรือยุติก็จะดำเนินการตามนั้น โดยขอยืนยันด้วยตัวเลขเชิงวิทยาศาสตร์ว่า แม้โครงการล่าช้าแต่ด้วยการจัดการจะทำให้ไฟฟ้าไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน โดยใน 5 ปีนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นใหม่ในภาคใต้
“ขอความร่วมมือสื่อพาดหัวข่าวให้เกิดการปรองดอง ขอชาวบ้านอย่าขึ้นป้าย “ศิริ ออกไป” มันกระทบจิตใจ โดยเอ็มโอยูก็เพื่อความปรองดองและตัวเลขเชิงวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดว่าสามารถจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นใหม่ภายใน 5 ปี” รมว.พลังงาน กล่าว
สำหรับความเชื่อมั่นดังกล่าว เกิดจากนายศิริ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้จะโตประมาณร้อยละ4-5 ต่อปี จากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกปี 2561 ที่ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ดังนั้น เพื่อรองรับการเติบโตโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันก็จะบริหารจัดการในช่วง 3-5 ปี โดยเพิ่มสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ คือ จะนะและขนอม ตรงไปยังฝั่งอันดามัน โดยลงทุนสร้างสายส่งแก้ปัญหาคอขวดของสายส่งก็จะทำให้กำลังผลิตใช้ได้เต็มที่ 2,400 เมกะวัตต์ และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี จะทำให้รองรับได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 300 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการผลิตและใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะลดการส่งไฟฟ้าจากพื้นที่อื่น ๆ เข้าไป
“ในส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ หลายคนมองว่าเชื้อเพลิงอาจไม่เพียงพอ แต่หากรัฐไม่เริ่มโครงการ ก็ไม่มีการพัฒนา ซึ่งวัตถุดิบนอกจากใช้เศษไม้จากยางพาราและปาล์มแล้ว อาจใช้จากรากได้ด้วย ทางส่วนกลางก็อาจส่งรถเคลื่อนที่สับรากไม้เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ โดยหากเกิดได้ถึง 200 เมกะวัตต์ ก็ถือว่าดีชาวบ้านก็มีรายได้ ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ก็จะมั่นคงได้ด้วยตัวเอง” รมว.พลังงาน กล่าว
นายศิริ ยังกล่าวด้วยว่า การทำ SEA จะดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่จำเป็นต้องถอนผลศึกษา EHIA และ EIA โครงการเทพา อย่างไรก็ตาม เพื่อปรองดองก็ขอให้ กฟผ.ถอนฟ้องในคดีที่คั่งค้างกับกลุ่มผู้ต่อต้านโครงการ.-สำนักข่าวไทย