กรุงเทพฯ 5 ต.ค.-หลังจากเมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทยนำเสนอธุรกิจครีมกิโลไปแล้ว วันนี้จะมาดูผลกระทบของผู้ใช้เครื่องสำอางอันตราย และ สคบ.ต้องเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ผู้ใช้ที่หน้าพังและผู้ผลิตปีละ 50 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ผลิตบางรายยังใส่สารต้องห้ามในเครื่องสำอาง
แม้ร่องรอยการอักเสบบนใบหน้าจะจางมากแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เธอเคยมีอาการแพ้จากการใช้เซรั่มผลัดผิวขาว ที่สั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต ครั้งแรกที่ทา ผิวหนังบริเวณจมูกหลุดลอก บวมแดง ต้องรักษาด้วยการกินยา และทายาอยู่นานนับเดือน
ผลิตภัณฑ์นี้โฆษณาว่าเปลี่ยนสีผิวให้ขาวได้ รูปภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้ มีเลขจดแจ้งของ อย.บนกล่อง ทำให้เธอตัดสินใจสั่งซื้อเซรั่มในราคาหลักพันบาท แต่เมื่อหน้าพัง จึงนำเลข อย.ไปตรวจสอบ กลับพบว่าในระบบจดแจ้งเป็นเซรั่ม แต่ในผลิตภัณฑ์กลับระบุเป็นน้ำยาลอกผิว เภสัชกรชี้ว่า เซรั่มนี้อาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่มีความเป็นกรด
ผอ.สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย.ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีการระบุถึงสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวขาว เช่น ไฮโดรควิโนน วิตามินเอ และสารปรอทอยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีผู้ผลิตลักลอบใช้อยู่ ที่นิยมมากที่สุดคือ สารประกอบปรอทที่ทำให้หน้าขาว แต่อันตราย และแม้ที่วางขายในตลาดจะมีการขอจดแจ้ง อย. แต่ก็ไม่ได้เป็นการประกันคุณภาพ
แต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้เครื่องสำอางอันตรายที่ได้รับความเสียหาย เฉลี่ยปีละ 50 ราย โดยใน 2 ปีนี้ ผู้บริโภคร้องเรียนแล้วกว่า 150 ราย ส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาเกินจริง หรือโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
กระแสนิยมความขาวเป็นปัจจัยเร่งให้ครีมกิโลและเครื่องสำอางอันตรายยังคงทำรายได้ดีในปัจจุบัน คนไทยบางส่วนเน้นให้เห็นผลขาวเร็ว เช่น ภายใน 3 วัน และต้องมีราคาถูก ขณะที่ผู้ผลิตครีมบางรายยังใส่สารเคมีมากเกินกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เภสัชกรให้ข้อมูลว่า ในต่างประเทศมีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพทดแทนไฮโดควิโนน หรือสารต้องห้ามที่ทำให้หน้าขาวหลายชนิด แต่ราคาแพงกว่าเล็กน้อย แต่ผู้ผลิตครีมหน้าขาวในไทยหลายรายยังติดอยู่กับสารเคมีตัวเดิม ความเสี่ยงจึงตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องการสวยในราคาถูก.-สำนักข่าวไทย