สปส.12 ก.พ.-สปส.สนับสนุนนโยบายรัฐ ปรับโครงสร้างประชากรประเทศ เตรียมเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 600 บาท เบิกค่าคลอดได้13,000 บาท หวังจูงใจเพิ่มประชากรวัยทำงาน สร้างกำลังแรงงานในอนาคต
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ส่งผลต่ออัตราส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายสนับสนุนประชากรของประเทศให้มีบุตรเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรที่กำลังลดลงรวมถึงสร้างกำลังแรงงานในอนาคต สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ จำนวนผู้ประกันตนหรือสถานประกอบการที่ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
นายสุรเดช กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้สำนักงานประกันสังคมจึงดำเนินการวางนโยบายพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ และของกระทรวงแรงงาน โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของผู้ประกันตน สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน สร้างหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และสามารถคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยการพัฒนาด้านสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ได้มีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมสำหรับ ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้เพิ่มสิทธิกรณีคลอดบุตร จากเดิมผู้ประกันตนหญิง มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้งเหมาจ่าย ครั้งละ13,000 บาท + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน เป็น ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับไม่จำกัดจำนวนครั้งละ 13,000 บาท + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง นอกจากนี้ ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิม บุตรอายุ 0–6 ปี ได้คราวละไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาท เป็น 600 บาท ให้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร คราวละไม่เกิน 3 คน(สำหรับกรณีเหมาจ่ายรายเดือนดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป )
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวด้วยว่า การพัฒนาสิทธิประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มกำลังแรงงานครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมคาดว่าจะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งของผู้ประกันตน ในการจะสร้างครอบครัว เพื่อเพิ่มประชากรวัยทำงาน รวมถึงเพิ่มกำลังแรงงานในอนาคต ซึ่งจะช่วยปรับโครงสร้างประชากรของประเทศให้มีความสมดุล ซึ่งจะยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุด ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการ ที่ดีและเป็นที่พึ่งของลูกจ้าง ผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ต่อไป .-สำนักข่าวไทย