กรุงเทพฯ 6 ต.ค.-กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อเกิดฝนตกหนัก สาเหตุหลักเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งพื้นดินบางช่วงเป็นดินอ่อนยุบตัว ส่วนแนวทางแก้ปัญหา ระยะยาวต้องเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำเหมือนบึงพระราม 9 อีก 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ถนนรัชดา บริเวณหน้าศาลอาญา เป็นหนึ่งจุดหลักที่เมื่อเกิดฝนตกหนักมีปัญหาน้ำท่วมขังเร็วและยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงอีกหลายเส้นทาง เช่น บางช่วงของวิภาวดี ถนนแจ้งวัฒนะ หน้าศูนย์ราชการฯ ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยแบริ่ง-ลาซาล เกษตรนวมินทร์ บริเวณคลองบางบัว หรือที่พหลโยธินเชื่อมต่อกับปทุมธานี และรอยต่อนนทบุรีและสมุทรปราการ รวมทั้งหมด 20 จุด
ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท.ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจพบทั้ง 20 จุด เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากหลังฝนตกหนัก เกือบทุกจุดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่ง เกิดจากปัจจัยทั้งพื้นที่เป็นดินอ่อนยุบตัว หรือถนนช่วงจราจรหนาแน่น บริเวณเหล่านี้ยังพบอัตราทรุดตัวของพื้นดินมากกว่าปกติ ขณะที่ระบบท่อระบายน้ำบนถนนสายสำคัญ เช่น รัชดาภิเษก และสุขุมวิท โดยเฉพาะช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ใช้ท่อเก่านานเกือบ 30 ปียังไม่มีการเปลี่ยน และท่อวางอยู่ในระดับไม่สอดคล้องตามกายภาพ และจุดอ่อนสำคัญของระบบระบายน้ำ กทม. คือ การขาดจุดรวบรวมน้ำหลัก ระบบขาดความเชื่อมโยง จากที่พักลงสู่ท่อรอง ท่อหลัก และลำคลอง
แยกพงษ์เพชร ถนนงามวงศ์วาน เป็นหนึ่งจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากในกรุงเทพฯ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลพบว่า ถนนในซอยมีความสูงกว่าถนนที่อยู่ด้านนอก เมื่อฝนตกหนักและตกปริมาณมาก จึงทำให้น้ำจากในซอยไหลลงถนนหลัก เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ
ส่วนที่แยก ม.เกษตรฯ พบปัญหาน้ำระบายไม่ทันหลังฝนตกหนัก อยู่ตรงช่วงถนนรอบอุโมงค์และในตลาดอมรพันธ์ ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง ประชาชนชี้ให้ดูระดับน้ำที่เมื่อฝนหนัก น้ำจะท่วมสูงถึงบันได เขาบอกว่าจุดนี้พบปัญหาในช่วง 4-5 ปีมานี้
ในทุกจุดเสี่ยง กทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยระบายน้ำออกจากพื้นถนน ส่วนระยะยาว มีข้อเสนอของวิศวกรรมสถานฯ ว่า ควรต้องทำให้น้ำมีทางไหลลงคลองสายต่างๆ ได้สะดวก ต้องเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ เช่น ที่บึงพระราม 9 ซึ่ง กทม.ต้องหาพื้นที่พักน้ำเพิ่มให้ได้อีก 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตรก็จะเพียงพอ รวมทั้งแก้ปัญหาชุมชนรุกล้ำคลอง โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวและคลองประเวศที่มีผู้รุกล้ำกว่าหมื่นครัวเรือน
ท้ายสุดผลักดันให้บังคับใช้กฎหมายผังเมืองเรื่องการถมที่ อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีสิ่งปลูกสร้างใหม่ถมที่โดยไม่คำนึงถึงระดับสูงต่ำกับระดับพื้นถนน เป็นอุปสรรคสำคัญในการไหลของน้ำ.-สำนักข่าวไทย