จีน 9 ธ.ค. – “สมคิด” ร่วมประชุมเจซี วางกรอบความร่วมมือไทย-จีน คาดเริ่มลงทุนก่อสร้างรถไฟต้นปี 60 พร้อมจับตานโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน (เจซี) ครั้งที่ 5 ว่า ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยจีนพร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางต่าง ๆ ของประเทศไทย เพราะหลายแนวทางที่ไทยกำลังเดินหน้าสอดคล้องกับแนวทางของจีน ซึ่งหลายแนวทางของจีนก็เดินหน้าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ถือเป็นมิตรสหายที่ดีอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกความเข้าใจก่อนสร้างรถไฟไทย-จีน ที่ได้มีการลงนามอย่างเป็นทางการรับว่าเป็นก้าวสำคัญ หลังจากการลงนามจะเกิดการก่อสร้างตามเส้นทางต่าง ๆ ช่วงต้นปี 2560 ซึ่งไทย-จีนคาดหวังว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นอื่น ๆ ในระยะยาว อีกทั้งจีนมีความพร้อมที่จะยกระดับการเชื่อมโยงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าการค้าโลกจะปรับตัวเป็นโลกไร้พรหมแดน แต่ประชาชนชาวจีนก็ยังไม่ได้มีการตื่นตัวในโลกของอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อรัฐบาลให้ความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องด้านการค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตส่งผลให้เกษตรกรชาวจีนสามารถปรับตัวเองทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถสร้างความแข็งแกร่งในการค้าท้องถิ่นมีความก้าวหน้าอย่างดี ดังนั้น จีนพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความรู้ด้านอินเทอร์ต่อไทย ซึ่งทางการจีนจะให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสื่อสารพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตร่วมกับไทยให้ครบวงจร อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจีนจะมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ความก้าวหน้าของโลกที่ไร้พรหมแดน ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่จะพัฒนาอุตวาหกรรมของไทยให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจีนก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะในเรื่องของอินโนเวชั่น ฮับ ซึ่งทางการจีนพร้อมที่จะร่วมกับประเทศไทยพัฒนาขั้นตอนการผลิตนวัตกรรมของไทย ซึ่งจีนกับไทยมีการตกลงที่จะขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภายใน 5 ปี หรือในปี 2563 ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนอยู่ระหว่างการติดตามความชัดเจนว่าแนวนโยบายของประธานาธิบดีของสหรัฐคนใหม่ ว่าจะมีมาตรการในการปกป้องการค้าเสรีด้านใดบ้าง โดยเฉพาะข้อตกลงความหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี ซึ่งหากสหรัฐประกาศยกเลิกกรอบความร่วมมือดังกล่าว เชื่อว่าความสนใจทางการค้าจะมีในกลุ่มของกรอบความร่วมมืออาเซียน +6 โดยจีนให้ความสำคัญในกรอบการเจรจาดังกล่าว เพราะเห็นว่าไทยมีความเข้มแข็งภายในกลุ่ม CLMV หากความร่วมมือดังกล่าวสามารถเดินหน้าก็จะทำให้หลายประเทศเกิดความสนใจ เนื่องจากมูลค่าในกรอบความร่วมมือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก
นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า ทางการจีนยังให้ความสนใจในการร่วมเสริมความเข้มแข็งให้กับระดับจังหวัดของไทย เพราะแต่ละเมืองของจีนที่มีความเข้มแข็งและมีความรู้ประสบการณ์ก็พร้อมที่จะถ่ายทอดพัฒนาในกลุ่มจังหวัดของไทย ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางที่จะผลักดันและสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดรวมกลุ่มพัฒนาให้เศรษฐกิจระดับรากหญ้ามีความเข้มแข็ง โดยเชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างให้ความรู้แก่เกษตรกร หลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีแนวทางสอดคล้องกันที่จะพัฒนาให้ชุมชนของไทยมีความเข้มแข็ง.-สำนักข่าวไทย