กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าไฮสปีดไทย-ญี่ปุ่น เสนอญี่ปุ่นร่วมทุนกับรัฐบาลไทย ด้านญี่ปุ่นโชว์มีเงินให้กู้พร้อมดอกเบี้ยราคาถูก คาดได้ข้อสรุปชัดเจนเสนอ ครม.มี.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงิน 276,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 7 สถานี คือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก ใน 3 ประเด็นหลัก
สำหรับประเด็นที่ 1.ต้นทุนโครงการ ซึ่งคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายจะไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่ารายการไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น โดยหากต้องการต้นทุนที่ถูกอาจจำเป็นต้องดำเนินการออกแบบและก่อสร้างเป็นระยะ ๆ และอาจจำเป็นต้องตัดบางสถานีออกไปก่อน เช่น สถานีพิจิตรและสถานีลพบุรี เป็นต้น แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากตัดออกจริงจะส่งผลต่อปริมาณของผู้โดยสาร เพราะหากไม่มีสถานีคนก็ไม่มีความต้องการจะขึ้น ดังนั้น ไทยคงต้องพิจารณาให้ดีว่าหากตัดบางสถานีทิ้งไปจะไม่คุ้มค่ากับจำนวนผู้โดยสารที่หายไปหรือไม่
2.เรื่องความเร็วสูงสุดในการเดินรถที่จะใช้ระบบเดียวกับชินคันเซ็น ซึ่งมาตรฐานญี่ปุ่นอยู่ที่ 300 กม.ต่อ ชม. โดยมีผลสำรวจว่าหากระยะทางไม่เกิน 500 กม. คนจะเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน หรือขับรถ เพราะจะเร็วและคุ้มค่า แต่หากระยะทาง 500-749 กม.ขึ้นไปคนจะหันมานั่งรถไฟความเร็วสูงทันที เพราะคุ้มค่ามากกว่า สำหรับประเด็นที่ 3. การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ซึ่งญี่ปุ่นศึกษาทั้งระบบพบว่าหากจะทำให้โครงการมีความคุ้มค่าถึงร้อยละ 14 ต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีและพัฒนาเมืองทั้งระบบตามผลการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจหรืออีไออาร์ แต่หากไม่มีการพัฒนาความคุ้มค่าจะอยู่แค่ร้อยละ 7
นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับความเชื่อมโยง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความเชื่อมโยงแล้วพบว่ารถไฟไทย-จีนได้เปรียบเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และความต้องการของผู้โดยสารก็จะมาจากจีน สำหรับกรณีของรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น ยังมีความกังวลเรื่องความเชื่อมโยง แต่ไทยให้ข้อมูลว่าไฮสปีดไทย-ญี่ปุ่น สามารถเชื่อมโยงกับรถไฟทางคู่เส้นตะวันออกบ้านไผ่-นครสวรรค์ และเส้นตะวันตกนครสวรรค์-แม่สอดได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากจีนทางเครื่องบินหรือรถไฟสามารถมาต่อรถไฟทางคู่จากบ้านไผ่-นครสวรรค์ และมาขึ้นรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นได้ อีกทั้งจะทำให้มีจุดหยุดพักหลายแหล่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญของเมืองในอนาคต
นอกจากนี้ ยังหารือด้วยว่าเส้นทางเชียงใหม่นั้นควรต้องพัฒนาเรื่องการขนส่งสินค้า แต่รถไฟความเร็วสูงจะไม่ใช่เรื่องการขนส่งสินค้าและจะใช้เฉพาะขนส่งผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นเป็นอีกโจทย์ที่ญี่ปุ่นต้องไปศึกษา ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเสนอว่ามีเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยถูกที่พร้อมให้ไทยกู้ ซึ่งไทยแจ้งว่าต้องการลดภาระหนี้ ดังนั้น ต้องไปช่วยคิดว่ามีรูปแบบอื่นหรือไม่ในการช่วยลดภาระของรัฐบาล เช่น การร่วมทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะกลับไปศึกษาเพิ่ม คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อประกอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย