กรุงเทพฯ 13 มิ.ย. – 3 หน่วยงานลงนามส่งมอบและบูรณาการบำรุงรักษาถนนเลียบทางรถไฟ ตั้งแต่ถนนประชาชื่นถึงถนนกาญจนาภิเษก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการดูแลบำรุงรักษาและปรับปรุงพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟ ตั้งแต่ถนนประชาชื่นถึงถนนกาญจนาภิเษก ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับกรมทางหลวงชนบท (ทช.)
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รักษาการ ผู้ว่า กทพ. กล่าวว่า โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบมาพร้อมกับโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) โดย รฟท.ได้ดำเนินการโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองดังกล่าวก่อนการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ ได้มีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟบางส่วนระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า กทพ.ก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ บนพื้นที่ของ รฟท. ต่อมาได้มีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟส่วนที่เหลือจบครบถ้วน ประกอบด้วย พื้นที่ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันออกระยะทางประมาณ 2.1 กิโลเมตร ซึ่ง กทพ.ได้ส่งมอบให้เทศบาลเมืองบางกรวย และพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศเหนือ ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกถึงถนนกาญจนาภิเษกและพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศใต้ ตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษกถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมทั้งถนนเลียบทางรถไฟฝั่งพระนครตั้งแต่ถนนประชาชื่น จนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ พระราม 7 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ รฟท. ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่ที่ กทพ. เวนคืนเพิ่มเติม ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติเมื่อก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟเสร็จจะต้องส่งมอบให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานครและเทศบาลเมืองบางกรวยรับมอบ เพื่อดูแลบำรุงรักษาและประกาศเป็นถนนสาธารณะก่อนจะขอบรรจบไฟฟ้าสาธารณะต่อไป
ทั้งนี้ รฟท.ได้ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2555 และ กทพ.ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ก่อสร้างในโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2559 ซึ่งปัจจุบันเทศบาลเมืองบางกรวย ได้รับมอบถนนเลียบทางรถไฟแบบต่อบรรจบไฟฟ้าสาธารณะเรียบร้อยแล้ว แต่กรุงเทพมหานครยังไม่รับมอบถนนดังกล่าว กทพ.จึงได้ประสาน รฟท.และทราบว่า รฟท.มีแนวคิดที่จะส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟให้กรมทางหลวงชนบทดูแลบำรุงรักษา กทพ.จึงขอความอนุเคราะห์กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางการดำเนินการ โดยการมอบถนนเลียบทางรถไฟให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและรับมอบเป็นถนนสาธารณะ ต่อมากระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทพิจารณาความเป็นไปได้ในการรับมอบพื้นที่ดังกล่าว โดยให้เข้าไปสำรวจพื้นที่ร่วมกับ กทพ.และ รฟท.และได้ประชุมหาข้อสรุปและทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขร่วมกันในการรับรอบถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ให้กรมทางหลวงชนบทเพื่อประกอบการดูแลบำรุงรักษา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยสรุปได้ว่ากรมทางหลวงชนบทไม่ขัดข้องในการรับมอบถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อดูแล บำรุงรักษา โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ รฟท. กทพ. และกรมทางหลวงชนบท จึงได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือฯ แล้วเสร็จ และเป็นที่มาของพิธีลงนาม.-สำนักข่าวไทย