กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – กรมชลฯ เผยลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกพืชเกินแผน ย้ำเกษตรกรเพาะปลูกตามแผนลดเสี่ยงขาดน้ำ
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (2 ก.พ.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 59,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 35,232 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 8,602 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,530 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 11,834 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณน้ำใช้การได้
ทั้งนี้ กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/2561 โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันทั้งสิ้น 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60) 7,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม.จะสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561
สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/2561 ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 –2 ก.พ. 61มีการระบายน้ำตามแผนฯ 3,758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนจัดสรรน้ำฯ และเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงอยู่ในอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที(ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 70 ลบ.ม.ต่อวินาที) เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย และควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ 0.25 กรัมต่อลิตร ปัจจุบันวัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัมต่อลิตร ไม่มีผลต่อน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตประปาได้ตามปกติส่วนการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด
ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/2561 ทั้งประเทศ วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาเพาะปลูกไปแล้ว 8.03 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ เฉพาะข้าวนาปรังเพาะปลูกไปแล้ว 7.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนฯ เฉพาะส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 5.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนฯ เฉพาะข้าวนาปรังเพาะปลูกไปแล้ว 5.45 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ105 ของแผนฯ ซึ่งการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานกรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเกินแผนไปแล้ว จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรร่วมกันเพาะปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้ที่สำคัญ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ จึงต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างไม่ขาดแคลน.-สำนักข่าวไทย