ซานย่า, 13 มิ.ย. (ซินหัว) — กระแสข่าวทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เตรียมออกวางตลาดในประเทศช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้บริโภค บรรดาคนวงในมองว่าการผลิตทุเรียนของจีนไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนทิศทางที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และทุเรียนไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน เนื่องจากการผลิตทุเรียนในจีนยังอยู่ระยะแรกเริ่ม ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย
ผู้สื่อข่าวซินหัวลงพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของบริษัท ไห่หนาน โยวฉี อะกรีคัลเจอร์ จำกัด ในเมืองซานย่า ซึ่งถือเป็นฐานปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันพื้นที่ราว 5,000 ไร่ พบว่าทุเรียนที่ฐานปลูกแห่งนี้เริ่มสุกและคาดว่าจะทยอยถูกเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนมิถุนายน พร้อมส่งขายในปีนี้เพียง 416 ไร่ หรือคิดเป็นปริมาณ 50 ตัน
แม้ไห่หนานจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งหลักของจีน แต่ยังคงมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนอยู่อย่างจำกัดมาก โดยต่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ก็ยังถือเป็นแหล่งผลิต “ขนาดเล็ก” อยู่ดี
“การปลูกทุเรียนภายในประเทศอาจได้ลดต้นทุนในการขนส่ง แต่ผลผลิตยังเป็นส่วนน้อยมากสำหรับส่วนแบ่งของตลาด” อีกทั้งผู้ประกอบการไม่ได้คิดเร่งเพิ่มการลงทุนและพื้นที่ปลูกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าด้วย
ผู้บริโภคชาวจีนนั้นชื่นชอบ “ราชาแห่งผลไม้” อย่างทุเรียนกันมากจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนมาจากการนำเข้า ซึ่งข้อมูลสถิติพบว่าจีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน และส่วนใหญ่มาจากไทย
เฉินเหล่ย เลขานุการสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน กล่าวว่าการผลิตทุเรียนในประเทศยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกขนาดเล็ก ยังไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระยะสั้นนี้
“ราคาทุเรียนจะทรงตัวอยู่ระดับสูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ โดยทุเรียนถือเป็น ‘ผลไม้หรู’ ชนิดหนึ่งในจีน แม้จะมีทุเรียนที่ปลูกในประเทศออกวางตลาด แต่ด้วยการปลูกขนาดเล็ก ทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนปริมาณมากในระยะยาว” เฉินกล่าว
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรชี้ว่าต่อให้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวย แต่จีนจะยังคงเผชิญปัญหาความยากลำบากทางเทคนิคในการเพาะปลูกทุเรียนขนาดใหญ่
โจวจ้าวสี่ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน ระบุว่าทุเรียนเป็นพืชต่างถิ่น การปลูกต้นกล้าในประเทศจึงเป็นเรื่องยากในระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขทั้งเรื่องอากาศ ความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ปุ๋ย และน้ำ
“แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราค้นพบแนวทางการจัดการอย่างระบบน้ำหยดและบ่มเพาะต้นกล้าเตี้ยๆ ที่ทนลมในไห่หนานได้ แต่การปลูกขนาดใหญ่ในท้องถิ่นทั้งหมดยังคงอยู่ขั้นทดลอง” โจวกล่าว
ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในไห่หนานส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนไร้ผล และการปลูกยังคงเจอสารพัดปัญหาที่ต้องเอาชนะ ทั้งการเพาะและปลูกต้นกล้าคุณภาพสูง เทคนิคจัดการการปลูก และการควบคุมศัตรูพืช
คนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่าไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าแห่งหลักของจีนในระยะยาว เพราะทุเรียนไทยมีรสชาติอร่อยโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้ทุเรียนไทยจะยังครองตลาดการบริโภคทุเรียนของจีนในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/364270_20230614
ขอบคุณภาพจาก Xinhua