กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ไฟเขียวเปิดตลาดสินค้ากระเทียม หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ภายใต้ WTO ปี 61-63 เตรียมเสนอ ครม.เร็ว ๆ นี้ แนะเกษตรกรรวมกลุ่มชะลอขายช่วงผลผลิตออกตลาดมากลดปัญหาราคาตกต่ำ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ นโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้ากระเทียม เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2561-2563 ตามที่คณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เสนอ
สำหรับสินค้ากระเทียมกำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้มีสิทธิ์นำเข้าในโควตาแต่เพียงผู้เดียว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อราคากระเทียมในประเทศ รวมทั้งรายได้ของเกษตรกร ส่วนเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จะใช้ขบวนการสหกรณ์บริหารจัดการการผลิตและการตลาดอย่างครบวงจร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหอมหัวใหญ่ในประเทศ ตั้งแต่การจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรสมาชิก รวมถึงการมีส่วนในการจัดสรรปริมาณนำเข้าหอมหัวใหญ่แห้งเป็นผงและไม่เป็นผงให้แก่ผู้ประสงค์นำเข้า เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้
ส่วนมันฝรั่งผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรโควตาภายใต้ความตกลง WTO จะต้องมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยมีการปรับเพิ่มราคารับซื้อผลผลิตมันฝรั่งสดจากเกษตรกรในช่วงแล้ง (ม.ค. – มิ.ย.) จากเดิมไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท ปรับเป็นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.60 บาท และรับซื้อในช่วงฤดูฝน (ก.ค. – ธ.ค.) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ โดยมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรราคาสูงกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ สำหรับการเปิดตลาดสินค้าดังกล่าว อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ สศก.ร่วมกับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้ากระเทียม หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง จากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้พ่อค้าและผู้ประกอบการในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิต
ทั้งนี้ ปี 2561 สศก.คาดว่าผลผลิตกระเทียมจะมีประมาณ 76,000 ตัน และหอมหัวใหญ่ ประมาณ 41,000 ตัน โดยจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้กระเทียมในประเทศอยู่ที่ 100,000 –130,000 ตัน และหอมหัวใหญ่ 80,000 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันหรือร่วมกับสหกรณ์ เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้อีกทางหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย