กรุงเทพฯ 29ม.ค.-ผอ.รพ.พระมงกุฎฯแจงกรณีออกใบเสร็จรับเงินผิดพลาด มาจากความอ่อนล้าของเจ้าหน้าที่ช่วงปีใหม่ รับผิดพร้อมขอโทษ พร้อมแจงตัดเงินโครงการงวดแรก 31 ม.ค.นี้ กระจาย 11รพ.ก่อนและจะตัดยอดสุดท้าย 31 พ.ค.ส่วน รพ.พระมงกฎฯเตรียมนำเงินที่ได้จาก โครงการสานต่องานอุบัติเหตุ มุ่งมั่นเป็นศูนย์ความเป็นเลิศงานอุบัติเหตุ ในตึกสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พล.ต.นิมิตร์ สะโมทาน ผอ.โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าในฐานะประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและ พล.ต.พีรพล ปกป้อง เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แถลงข่าวชี้แจงการออกใบเสร็จรับเงินบริจาคโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล ที่เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นกรณี นางทิชา ณ นคร อดีต สปช.ได้รับใบเสร็จรับเงิน 500 บาทจากการบริจาคจริง 15,000 บาท ว่า เรื่องนี้ทางมูลนิธิฯ ได้แก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นพร้อมส่งใบเสร็จรับเงินครั้งใหม่ให้กับนางทิชาแล้ว
โดยยอมรับว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเกิดจาก human error ความอ่อนล้าของเจ้าหน้าที่ในการออกใบเสร็จรับเงินคืนวันที่1-2 มกราคม 2561 รอยต่อช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงทำให้เกิดความอ่อนล้าและเกิดความสับสนในการออกใบเสร็จ จากการตรวจสอบความผิดพลาดขณะนี้พบเพียง1รายเท่านั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในกระบวนการการออกใบเสร็จรับเงินว่าจะไม่มีความทุจริตและยังคงโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
พล.ต.นิมิตร์ กล่าวว่า ตนขอยอมรับผิดและขอโทษนางทิชาผ่านสื่อด้วย พร้อมชี้แจงกระบวนการการออกใบเสร็จรับเงินและช่องทางการบริจาคว่าต้องผ่านการโอนเงินในช่องทางต่างๆพร้อมแฟกซ์สำเนาและความประสงค์ต้องการใบเสร็จรับเงินจะที่อยู่เพื่อมูลนิธิจะจัดส่งใบเสร็จดังกล่าวไปยังที่พักได้
พล.ต.นิมิตร์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายเงินของโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลว่า จะได้มีการนัดหารือกับผู้อำนวยการทั้ง 11โรงพยาบาลในวันที่ 31 ม.ค.นี้เวลา 09.30 น. โดยจะมีการตัดยอดเงินในโครงการก้าวคนละก้าวครั้งที่ 1 วันที่ 31 มกราคม 2561 กระจายให้กับ 11 โรงพยาบาลเพื่อไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยยอดสุดท้ายจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561
สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าจะนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนของงานด้านอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอาคารก่อสร้างหลังใหม่อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นอาคาร 19 ชั้น และตั้งใจให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุบัติเหตุบูรณาการด้านงานอุบัติเหตุแบบครบวงจรมีการจัดการด้านเครือข่ายอุบัติเหตุกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเงินของโครงการก้าวคนละก้าวจะใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหลักนอกเหนือจากการของบประมาณของรัฐ 1,100 ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารเพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเชื่อว่าเครื่องมือที่จะจัดซื้อนั้น มีตั้งแต่เรื่องซีทีสแกน เครื่องเอ็กซเรย์แบบเคลื่อนที่ เครื่องช่วยหายใจเป็นต้น
พล.ต.พีรพล กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเร่งออกใบเสร็จรับเงินของโครงการเพื่อ ให้ทันการชำระหรือลดหย่อนภาษีนั้น ขณะนี้เหลือการออกใบเสร็จรับเงินเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น คาดว่าจะสามารถทยอยออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่บริษัทร่วมกับโครงการได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ .-สำนักข่าวไทย