ทำเนียบฯ 18 ม.ค. – รองนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยขยับเพิ่มค่าแรง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภาคแรงงาน ส่งผลต่อเอกชนขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น กำชับกระทรวงพาณิชย์คุมเข้มราคาสินค้าสอดคล้องกับค่าแรง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเตรียมออกตรวจจังหวัดเศรษฐกิจด้อยพัฒนามุ่งช่วยเหลือให้ดีขึ้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 รูปแบบตามพื้นที่มีทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 8-22 บาท โดย 3 จังหวัด ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ค่าจ้าง 330 บาท/วัน และมี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา เพิ่มเป็น 325 บาท ยอมรับว่าการปรับเพื่อให้สอดคล้องตามเศรษฐกิจพื้นที่แต่ละจังหวัด และหารือนาน 7-8 ชั่วโมง ทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ภาครัฐ ภาคแรงงานหารือร่วมกันอย่างรอบคอบ และภาคเอกชนพร้อมดูแลแรงงาน เพราะไม่ได้ปรับเพิ่มมานาน 3 ปี จึงเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าแรงครั้งนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับแรงงาน เพราะได้รับค่าจ้างเพิ่มในระดับพอสมควร ขณะที่กระทรวงพาณิชย์พร้อมดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรงเพิ่มขึ้น ส่วนการลอยตัวค่าแรงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องหารือเพิ่มภายหลังยังไม่ต้องคุยในช่วงนี้ เพื่อให้การเพิ่มค่าแรงทั้งประเทศได้ข้อยุติไปก่อน
สำหรับการดูแลเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่รัฐบาลต้องการให้ความสำคัญอย่างมาก จึงใช้รูปแบบบูรณาการแนวดิ่งของส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงมหาดไทย พาณิชย์ คลัง อุตสหากรรม ท่องเที่ยว และทุกหน่วยงาน เลือกลงพื้นที่ต้องดูแลเพิ่มเป็นพิเศษ หลังจากนายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ผลผลิตทางการเกษตร แต่มีปัญหาทางคมนาคมขนส่ง จึงต้องพัฒนาถนน สนามบิน เมื่อพาผู้บริหารทุกกระทรวงลงพื้นที่แล้วจะเกิดแรงผลักดันเพื่อให้ระดับปฏิบัติและท้องถิ่นเสนอโครงการแนวทางการพัฒนาได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการใช้งบกลางปี 100,000 ล้านบาท เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรและชุมชน จากนี้ไปนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่บ่อยขึ้นในจังหวัดที่ต้องเน้นพัฒนามากขึ้น เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หรือจังหวัดอื่น เพื่อรับทราบปัญหาด้วยตนเองจากชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อพัฒนาและรองรับค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น โดยย้ำหน่วยงานท้องถิ่นในชุมชนว่าโครงการที่เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นโครงการสำคัญ ไม่ซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ประเมินอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้น 5-22 บาทต่อวันทั่วประเทศนั้น จะมีผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าค่อนข้างน้อยมากเพียงร้อยละ 0.04-2 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงประมาณกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แรงงานเข้มข้นกระทบต้นทุนไม่ถึงร้อยละ 1 จึงไม่น่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่และภาคเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมาประชุมหารือร่วมกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงถึงตัวเลขของอัตราแรงงานที่เพิ่มขึ้นแต่ละช่วงให้เอกชนทุกกลุ่มได้รับทราบข้อเท็จจริง เมื่อต้นทุนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้นแต่อย่างใด และหากผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้าต้องสามารถชี้แจงต้นทุนการปรับเพิ่มขึ้นอย่างละเอียด รวมทั้งต้องยื่นหนังสือเสนอขอปรับราคามายังกรมการค้าภายในก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการยื่นขอปรับราคาเข้ามา.-สำนักข่าวไทย