กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – นายกสมาคมค้าส่งปลีกไทยระบุผู้ค้าปลีกกลางและเล็กพอรับอัตราแรงงานเพิ่มไหว ห่วงรายใหญ่กระทบ แนะรัฐอย่าคุมสินค้าปล่อยกลไกตลาดแทน
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งปลีกไทย กล่าวว่า อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-22 บาทของแต่ละจังหวัดนั้น โดยส่วนตัวพอรับอัตราดังกล่าวได้ แม้ว่าทำให้ต้นทุนร้านค้าปลีกขนาดเล็กและขนาดกลางไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่มีพนักงาน 1,000 คนขึ้นไปกระทบมากแน่นอน ดังนั้น จะทำให้การแข่งขันประเภทลดแลกแจกแถมของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจากอัตราแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้คงต้องอยู่กับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่แต่ละรายว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร เพราะหากสินค้าจากต้นทางไม่มีการปรับราคาสินค้าขึ้น ผู้ค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ด้วยสภาพการค้าปัจจุบันเปิดเสรีตามกรอบการค้ากับหลายประเทศ ทำให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จึงคิดว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ควรจะเข้ามาควบคุมสินค้าโดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวควบคุมแทน โดยหน่วยงานภาครัฐหันมาสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้นจะทำให้ประเทศชาติมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับดังกล่าวถือว่ารับได้และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออกข้าวให้สูงมากนัก โดยอาจมีผลต่อราคาส่งออกข้าวให้ปรับเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากระดับการปรับขึ้นดังกล่าวไม่ได้ปรับขึ้นในอัตราเดียวกันทั่วประเทศและเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก
ทั้งนี้ หากปรับเพิ่มมากกว่านี้อาจจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันได้ เพราะการส่งออกข้าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้แรงงานตั้งแต่เกี่ยวข้าว การขนถ่ายข้าว การขนส่ง การบรรจุ จนถึงการลำเลียงเพื่อการส่งออก ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องขณะนี้ทำให้เป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของการส่งออกข้าวของไทยอยู่แล้ว. – สำนักข่าวไทย