กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – รมช.คมนาคม สั่งทย.ยกเครื่องสนามบินภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ได้มาตรฐานสากล รับมือทางคู่-ไฮสปรีดเทรน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายนโยบายให้ กรมท่าอากาศยาน (ทย.)ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในสังกัด ทย.กว่า 29 แห่ง ให้พัฒนาพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน หวังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวการบินอยู่ประมาณร้อยละ 10 ให้เพิ่มขึ้นจากที่เหลือกว่าร้อยละ 90เป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน ซึ่งมองว่ารายได้เชิงพาณิชย์น้อยไป แต่จะเพิ่มขึ้นสัดส่วนเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่เหมาะสมของ ทย. หากมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้นจะทำให้ ทย. สามารถนำรายได้มาพัฒนาสนามบินได้ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีผู้โดยสาร ที่เดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำผ่านเข้าออก สนามบิน ทย. รวมแล้วกว่า 60 ล้านคน/ปี นอกจากนั้นยังให้นโยบายว่า ทย.จะต้องคงความสามารถในการแข่งขันเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นฮับทางการบินของอาเซียนต่อไป
นอกจากนั้นให้ ทย. ไปดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่สนามบินภูมิภาคในสังกัด ทย.ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย และมีมาตรฐานเดียวกันทุกสนามบิน เนื่องจากพบว่าสนามบินภูมิภาคมีความหลากหลายมาก จึงให้แนวคิดไปว่าให้ทำเป็นลักษณะของตัวอาคารที่ให้บริการเป็นมาตรฐาน เพื่อง่ายต่อการขยายการดำเนินงานไปยังสนามบินต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เดินทางเกิดความคุ้นชิน ส่วนการออกแบบภายนอกสนามบินนั้นจะออกแบบให้เข้ากับสภาพของแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการรูปแบบสนามบิน
“ขณะนี้มองว่าตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์มาแรงมาก แต่ในอีก3-4ปีข้างหน้า ระบบราง ทั้งทางคู่หรือรถไฟความเร็วสูงจะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน ระบบรางก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญกับวงการการบิน เพราะคนรุ่นใหม่นิยมการเดินทางระบบราง ดังนั้นเรื่องนี้ทาง ทย.จะต้องเตรียมรับให้ดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ด้านนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย.กล่าวว่า ทย.กำลังหาแนวทางสร้างรายเพิ่มจากพื้นที่ใช้สอยภายในสนามบินให้มีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้สถาบันวิจัยทำการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมโดยสนามบินระนองจะเป็นสนามบินแรกที่จะนำพื้นที่ว่างเปล่ามาพัฒนาเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นขณะนี้ ทย. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP ใน4 สนามบินคือ สนามบินนครศรีธรรมราช ,เพชรบูรณ์,ชุมพร และ ลำปาง คาดว่าภายในสิ้นปี61นี้จะสามารถเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนได้
ส่วนการเตรียมการณ์รองรับการเข้ามาตรวจสนามบินขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ นั้น ทาง ทย.ได้มีการจัดหาและติดตั้งเครื่องรักษาความปลอดภัยในสนามบินไปแล้ว 3สนามบินคือ สนามบินสุราษฎร์ธานี,กระบี่,อุดรธานี และในปี 61 ทย. ได้มีการจัดหาเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด และ ระบบการรักษาความปลอดภัย งบประมาณกว่า 800 ล้านบาทในอีก8สนามบิน ส่วนที่เหลืออีก18สนามบิน ได้เตรียมจะเสนอของงบประมาณในปี62 อีกจำนวน 1,200ล้านบาท – สำนักข่าวไทย