รร.โนโวเทล 9 ม.ค. – รัฐ –เอกชนจับมือสนับสนุนโครงการชี้แนวทางการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ หวังลดนำเข้าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ต่อยอดมูลค่าเพิ่มไบโอดีเซล- เอทานอล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการชี้ทิศทางและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมีสำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (CAT-REAC industrial project)” เพื่อเป็นการสร้างเทคโนโลยีฐานให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฎิกริยา เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งแต่ละปีมีการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี
นายปิยะสาร ประเสริฐธรรม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้จะเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้การใช้เอทานอล- ไบโอดีเซลจะลดลง
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวระยะแรกของโครงการ สกว.จะสนับสนุนงบประมาณวิจัย ในเฟสแรกปีละ 15 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี เอกชนร่วมทุนอีกปีละ 7.3 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 66.9 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า100 ล้านบาทต่อปี
นางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม ปตท. กล่าวว่า ปตท.ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยจากการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับ โดยการนำร่องใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและอุตสาหกรรมเอทานอล ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ดำเนินการวิจัยและทดสอบประเมินประสิทธิภาพตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. และบริษัทในกลุ่มนับตั้งแต่ปี 2556 – 2560 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาจากต่างประเทศ รวมถึงลดความสูญเสีย เนื่องจากการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับที่มีประสิทธิภาพต่ำได้กว่า 240 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย