กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – สรท.หวั่นเงินบาทและค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลกระทบภาคการส่งออก แนะรัฐพิจารณารอบด้าน แม้ทิศทางส่งออกยังเติบโต แต่หาก 2 ปัญหายังไม่แก้ไขโอกาสที่ภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมีสูง เตรียมหารือผู้ว่าฯ ธปท.คุมเงินบาท 12 ม.ค.
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2560 โตเกินคาดร้อยละ 10.0 มูลค่าการส่งออกถึง 216,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเมินว่าการส่งออกทั้งปีจะโตถึงร้อยละ 10 เป็นตัวเลข 2 หลักได้แน่นอน ส่งผลให้ประเมินภาพรวมการส่งออกปี 2561 ทาง สรท.คาดว่ายังมีแนวโน้นเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้ตัวเลขการส่งออกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้จีดีพีของประเทศจะเติบโตร้อยละ 3.8-4
ทั้งนี้ เท่าที่มีการประเมินภาพรวมการส่งออกปี 2561 มีทิศทางขาขึ้น โดยหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ดี คือ อุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมที่มีทิศทางดีขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนเห็นด้วยต่อแผนการปรับการทำงานของ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันภาคเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรจะต้องปลูกพืชผสมผสานไม่เน้นปลูกพืชชนิดเดียวในปริมาณที่มาก เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาล้นตลาด หากปลูกปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยดึงราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ สรท.เป็นห่วงและกังวลใจมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่าถึง 1 บาท จาก 33 บาท มาเป็น 32 บาท ส่งผลให้รายได้ส่งออกหายไปมากกว่า 230,000 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้ส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศปี 2560 อีกด้วย ดังนั้น จึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเข้ามาดูแลไม่ให้ความผันผวนค่าเงินบาทเร็วเกินไป แม้ว่าจะมีการแนะนำให้ภาคเอกชนไปทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหากเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปการทำประกันความเสี่ยงถือว่าไม่คุมทุน อีกทั้งการที่ภาครัฐจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำถือว่ากู้เงินมาแต่สู้กับปัญหาค่าเงินที่แข็งค่าไม่ทันเช่นกัน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งหามาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากจนเกินไป และควรมีการเปิดเผยความเคลื่อนไหวเงินไหลเข้าและไหลออก รวมทั้งเงินลงทุนภาครัฐเพื่อให้เอกชนได้ติดตามความเคลื่อนไหวสิ่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและได้นัดหมายคุยคุมเงินบาทกับทางผู้ว่าการ ธปท.ในเช้าวันที่ 12 มกราคมนี้
ส่วนค่าแรงขั้นต่ำที่จะขอปรับขึ้นนั้น ทาง สรท.มองว่าอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลปปินส์ หากจะปรับค่าแรงขึ้นอีกก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีหลายกลุ่ม ดังนั้น ในส่วนของ สรท.ยังคงมองว่าอัตราค่าจ้างแรงงานที่จะปรับขึ้นไปจะมากหรือน้อยแค่ไหน ภาครัฐจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะหากดูอัตราเงินเฟ้อของประเทศก็ไม่ได้สูงขึ้น หากปรับมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออกของไทย จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม หากเป็นไปได้ควรชะลอออกไปก่อน 1 ปี.-สำนักข่าวไทย