กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – ธนาคารไทยพาณิชย์ห่วงบาทแข็งทำสินค้าเกษตรไทยแข่งขันยาก โดยเฉพาะเวียดนาม แต่เชื่อส่งออกยังโตร้อยละ 5 หนุนจีดีพีโตร้อยละ 4
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นปี 2561 เป็นการแข็งค่าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนมีการปรับตัวระยะหนึ่งแล้วเพราะเห็นแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ที่กังวล คือ อาจจะกระทบต่อการกำหนดราคาส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และข้าว เนื่องจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มีการส่งออกสินค้าเหมือนกับไทย และหากเทียบเงินบาทกับเงินดองเวียดนามแข็งค่าถึงร้อยละ 10 และหากเทียบกับเงินหยวนของจีน เงินบาทแข็งค่ากว่าร้อยละ 5 ทำให้ความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรของผู้ส่งออกไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าไม่กระทบต่อตัวเลขการส่งออกปีนี้ ซึ่งคาดว่าขยายตัวร้อยละ 5 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวดี และมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเติบโตร้อยละ 4 เท่ากับปี 2560 นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยับฟื้นตัว หลังจากหดตัวในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 จากการส่งออกที่ขยายตัวดี บวกกับธนาคารพาณิชย์และค้าปลีกจะมีการลงทุนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและภาครัฐหนุนการลงทุนในอีอีซี
ขณะที่ยังได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.9 เป็นการขยายตัวเต็มศักยภาพ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย 38 ล้านคน หลังจากพ้นช่วงไว้อาลัย และไทยพ้นโทษแบนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยมีแนวโน้มดีขึ้นเพียงบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้มีรายได้สูง และกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ทยอยหมดภาระการผ่อนที่จะช่วยให้สินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขยายตัวได้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตร้อยละ 3 ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวร้อยละ 1.5 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ทั่วถึง ประกอบกับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมันและราคาสินค้า คาดว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.1
ด้านความเสี่ยงหลักปี 2561 คือ ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว การขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะขั้นสูง ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญอาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนสะดุดลงได้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะเริ่มลดน้อยลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และอีกหลายประเทศเริ่มลดการอัดฉีดเม็ดเงินและปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลงได้. – สำนักข่าวไทย