กาญจนบุรี 28 ธ.ค. – กรมธนารักษ์ เตรียมนำโรงงานกระดาษเก่าแก่นับร้อยปี กลางเมืองกาญจนบุรี ออกประมูลให้เอกชนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่สไตล์วินเทจ ปลุกตำนานปล่องไฟสัญลักษณ์ของคนเมืองกาญจน์
ในยุคก่อน การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อมองเห็นปล่องไฟของโรงงานกระดาษตั้งสูงตระหง่านใจกลางเมือง จะเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเดินทางมาถึงเมืองกาญจน์แล้ว โรงงานกระดาษแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยช่างชาวเยอรมัน จึงมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง รองรับเครื่องจักรในยุคก่อน เป็นทั้งโรงงานกระดาษแห่งแรกของไทย และยังเคยผลิตธนบัตรให้กับแบงก์ชาติบางช่วง จากนั้นส่วนราชการได้จำหน่ายตัวอาคารให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2530
จากนโยบายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธนารักษ์จึงมองเห็นจุดเด่นของอาคารที่เป็นศิลปวัฒนธรรม ยังคงสภาพสวยงามสไตล์ยุโรป จึงหวังนำมาปรับปรุง ชุบชีวิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสไตล์วินเทจ สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานกระดาษ เปิดร้านค้า ร้านอาหารของชุมชนแนวใหม่ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองกาญจน์ ปั้นให้เป็นแหล่งเช็กอิน เซลฟี่ อัพโซเชียลแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว เหมือนกับเอเชียทีคในกรุงเทพฯ หวังสร้างแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวเพิ่มเติม นอกจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว ล่องแพ ชมบรรยากาศเหนือเขื่อนศรีนครินทร์
เมื่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์จะหมดในช่วงปลายปีหน้า จึงต้องการนำพื้นที่ศักยภาพใจกลางเมือง 70 ไร่ มูลค่าตลาด 1,530 ล้านบาท เปิดให้ภาคเอกชนยื่นประมูลพัฒนา เพราะมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท
แผนพัฒนาแห่งนี้ยังติดปัญหา กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เพราะอยู่ในเขตกำแพง-คูเมืองยุคโบราณ สมัยรัชกาลที่ 3 มติ ครม.เดิมกำหนดให้ใช้เพื่อกิจการโรงงานกระดาษเท่านั้น และตั้งอยู่ในเขตสีน้ำเงินของส่วนราชการ จึงต้องเสนอให้รัฐบาล คสช. ปลดล็อกปัญหาเหล่านี้. – สำนักข่าวไทย