กทม. 17 ธ.ค. – ประเทศไทยกำลังจะมีผู้สูงวัยเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ สาเหตุคือเด็กเกิดน้อยลง ผลพวงตามมา คือ ปัญหาด้านการศึกษาและการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากที่จะทดแทนประชากรผู้สูงวัย
สถิติปี 2559 มีเด็กเกิด 700,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 -59 ปี ลดลงร้อยละ 10 ปัจจุบันมีแรงงาน 43 ล้านคน แต่อีก 20 ปีจะเหลือเพียง 36 ล้านคน ขณะที่มีผู้สูงอายุเกือบ 30 ล้านคน
เมื่อเด็กน้อยลง โรงเรียนจำนวนมากต้องปิดตัว มหาวิทยาลัยก็จำต้องปิดบางหลักสูตรที่ตลาดไม่ต้องการ ขณะที่ปัจจุบันคนในสังคมทัศนคติมุ่งแต่ใบปริญญา จึงขาดทักษะ กลายเป็นแรงงานไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่มิติความเหลื่อมล้ำ เด็กนอกระบบการศึกษา ไม่จบ ม.3 มีเกือบ 700,000 คน ส่วนมิติคุณภาพ ผลการสอบ Pisa วัดทักษะการคิดของเด็กทั่วโลก ล่าสุดพบนักเรียนไทย ม.3 มีทักษะการคิดน้อยกว่าเด็กระดับชั้นเดียวกันในเอเชียตะวันออกเกือบ 3 ปี และสัดส่วนของนักวิจัยระดับหัวกะทิก็น้อย แค่ 1,000 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ต่างชาติมีถึง 10 เท่า
นักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาแรงงานมาถูกทาง แต่ช้าไป ไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง ตามไม่ทันเทคโนโลยี แรงงานกลุ่มใหญ่ไม่มีทักษะ จึงต้องเริ่มตั้งแต่ปฏิรูการศึกษาให้ทันโลก เพราะเด็กไทยมีทักษะแค่ระดับ 1 จาก 6 และไม่พัฒนา ขณะที่โครงสร้างประชากรมีผลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่มีผู้สูงวัยมาก หากแรงงานไม่มีคุณภาพก็เพิ่มยาก
ทางออกปัญหา เน้นสร้างคุณภาพประชากรวัยแรงงาน สอนทักษะจำเป็นในยุค 4.0 ยืดอายุการทำงาน ไม่เกษียณ 60 ส่งเสริมให้คนไทยมีลูก ลดภาษี-ให้สิทธิการลาของคุณพ่อ มีมาตรการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปรับพฤติกรรม-เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังการออมในทุกวัยอย่างต่อเนื่อง และมองสังคมสูงอายุเป็นโอกาส สร้างนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่น หรือนำจุดแข็งด้านสมุนไพรเพื่อหารายได้ ไม่ใช่แค่ทุ่มงบแก้ปัญหาปลายเหตุ จ่ายเบี้ยยังชีพเกือบ 70,000 ล้านบาททุกปี อนาคตรัฐจะแบกรับไม่ไหว
ไทยเป็นสังคมแก่ก่อนรวย รายได้ที่มีสวนทางกับรายจ่ายของผู้สูงอายุ แม้จะมีเวลาเตรียมตัวเข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุเพียง 20 ปี ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนและให้ประสิทธิภาพมากคือ การสร้างความตระหนักให้ทุกวัยเห็นความสำคัญ เพราะส่งผลกระทบกับทุกคน เพื่อก้าวเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังและมีความสุข. – สำนักข่าวไทย