กรุงเทพฯ 1 ก.พ.- นักเศรษฐศาสตร์ แนะปรับตัวรองรับสังคมผู้สูงอายุ หาช่องทางเคลียร์หนี้วัยเกษียณ ย้อนถาม ธปท. ดอกเบี้ยสูง หวั่นกระทบเศรษฐกิจ เร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงเงินทุนไหลกลับประเทศ สภา อุตสาหกรรมแนะปรับตัว เกาะกระแสโลกดูแลสิ่งแวดล้อม
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัท อนันตา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน” ว่า ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องรู้จักการบริหารทรัพย์สิน เพราะขณะนี้ คนช่วงอายุ 16-30 ปี มีภาระหนี้สินมากกว่าหนี้สิน เพราะกำลังสร้างตัว แต่เมื่ออายุ 31-45 และอายุ 46-60 เป็นกลุ่มมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จากนั้นเมื่ออายุ 60-75 คนสูงวัย จะกลับมาเป็นหนี้เหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องบริหารกลุ่มสังคมผู้สูงอายุให้มีทรัพย์สิน เพื่อใช้ดูแลตนเองให้อยู่รอดช่วงปลายชีวิต เนื่องจากสังคมเมืองคนชราเริ่มโดดเดี่ยว จึงต้องหาช่องทางดูแลตนเอง ทั้งด้านการเงินและสุขภาพ หากไม่เตรียมตัวเมื่อสูงอายุจะมีปัญหา
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ภัทร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันร้อยละ 2.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังติดลบ แต่ถือว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง กว่าที่แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้ เพราะทำให้กำลังซื้อแผ่วลง เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ก่อนเกิดปัญหาโควิด -19 ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ขณะที่เงินเฟ้อต่ำร้อยละ 0.6 แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้างพอสมควร ขณะที่ดอกเบี้ยปัจจุบันปรับสูง ได้กระทบต่อกำลังซื้อประชาชน และการลงทุนของเอกชนอย่างมาก จึงอยากถาม ธปท. ว่า ต้องรอให้เกิดวิกฤติรุนแรง หรือไม่ ในการใช้นโยบายการเงิน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ต้องหาทางรับมือไม่ให้มีปัญหารุนแรง
ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า ต้องดูหลายปัจจัยแม้ว่าภาคการท่องเที่ยว มีสัญญาณการฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจจีน มีปัญหา แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า อาจเป็นอีกปัจจัยกระทบต่อการท่องเที่ยวในปีนี้ หากส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม เช่น ดิจิทัล พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเดอร์ จะเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน เพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย ไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่น ขาดความมั่นใจ รัฐบาล จึงต้องสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ เพื่อทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งจ่ายค่าแรง 700-800 บาทต่อวัน ให้กับแรงงานคุณภาพ เพื่อยกระดับภาคการผลิต ดังนั้น ไทยจึงต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ การปรับตัวรองรับกฎกติกาใหม่ ทั้งการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อหาจุดขายของตนเอง ยอมรับว่านักลงทุนสหภาพยุโรป สนใจเข้ามาลงทุนไทยหลายราย จึงต้องเตรียมพร้อมรับการเข้ามาขยายการลงทุน ทั้งความพร้อมด้านพลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้พร้อมไม่งั้นต่างชาติจะหนีหายไป และอาจเสียโอกาสได้
สิ่งที่ต้องเริ่มเปลี่ยนคือ การเปลี่ยนจากรับจ้างการผลิต มาเป็นการโครงข่ายการผลิต การเปลี่ยนจากการใช้แรงงาน มาเป็นการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อแสวงหากำไร มาเป็นการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากแรงงานคุณภาพต่ำ มาเป็นแรงงานคุณภาพ การสร้างเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องยึดเกาะกระแสโลกยุคใหม่ มุ่งเน้นดูแลสิ่งแวดล้อม BCG การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมดูแลสิ่งแวดล้อม.-515-สำนักข่าวไทย