กกต. 12 ต.ค.-กกต.ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบลงคะแนนนอกราชอาณาจักร หรือ I-Vote นำร่อง 3 ประเทศ “โอซาก้า นอร์เวย์ จอร์แดน” เชื่อได้นำมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปลายปี 2560 พัฒนาต่อเนื่องหลัง 5 ปี คนไทยในต่างประเทศเลือกตั้งทางเน็ตได้ทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (12 ต.ค.) ว่า กกต.ได้ลงนามในความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน เพื่อจัดทำระบบการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ I-Vote ประกอบด้วย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ กกต. โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เข้าร่วมในพิธีลงนามครั้งนี้
ในการลงนาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการลงนามความร่วมมือกับตัวแทนของหน่วยงานอีก 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, นายวราวุธ ชูวิรัช อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ความร่วมมือการจัดทำระบบการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะนำร่องใช้ระบบใน 3 ประเทศ คือ นอร์เวย์ จอร์แดน และญี่ปุ่น โดยประเทศนอร์เวย์และจอร์แดนจะนำร่องใช้ระบบ I-Vote ทุกเมืองทั่วทั้งประเทศ ส่วนประเทศญี่ปุ่น จะทดลองใช้ระบบดังกล่าวเฉพาะเมืองโอซาก้าเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการลงคะแนนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยผ่านระบบออนไลน์ และยังนับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาระบบการเลือกตั้งเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและมีความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งอีกด้วย
สำหรับแนวคิด I- Vote เป็นการพัฒนาอีกขั้น จากที่ทดลองใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดลงทะเบียนใช้สิทธิ์การออกเสียงประชามติที่ จ.ลพบุรี และฉะเชิงเทรา การใช้ I-Vote ครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในต่างประเทศลงคะแนนเลือกตั้งได้สะดวกขึ้น โดยผ่านโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้เข้าถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้มากที่สุดและลดค่าใช้จ่าย และสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ขยายรูปแบบวิธีการลงคะแนนนอกเหนือจากการใช้บัตรลงคะแนนอีกด้วย
จากเดิมวิธีการลงคะแนนสำหรับคนไทยในต่างประเทศถูกกำหนดโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ เช่น การกาบัตรในคูหาที่สถานทูต การส่งบัตรทางไปรษณีย์ หรือการกาบัตรที่หน่วยเคลื่อนที่ ซึ่งมีปัญหาคือส่งบัตรกลับประเทศไทยไม่ทัน เพราะงานไปรษณีย์ในประเทศนั้นล่าช้า ไม่ถึงมือผู้รับ ทั้งที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า จึงเกิดแนวคิดใช้อิเล็กทรอนิกส์มาเสริมเพื่อสอดรับกับการใช้เทคโนโลยีก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล นำระบบการลงทะเบียน และการลงคะแนนเพื่อเพิ่มช่องทางลงคะแนน สะดวกรวดเร็ว คุ้มค่า
นายสมชัย กล่าวว่า เหตุที่เลือก 3 ประเทศเป็นการนำร่อง เพราะจากการลงทะเบียนคนไทยผู้ใช้สิทธิ์ครั้งก่อน มีคนไทยใน 3 พื้นที่มีจำนวนแห่งละประมาณ 1,000 คน เมื่อเฉลี่ยใน 350 เขตเลือกตั้งแล้วมียอดราวเขตละ 8-10 คนเท่านั้น หากเกิดปัญหาขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อผลการเลือกตั้งในแต่ละเขต
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบ จะต้องมีการวางวิธีการอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความรัดกุม บนเป้าหมายให้เกิดความสะดวก ประหยัด และเชื่อถือได้ ไม่ให้ใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อน หรือการใช้สิทธิ์แทนกัน เช่น จะต้องมีรหัสโค๊ท มีการยืนยันคอมพิวเตอร์ต้นทางว่าไม่ใช่การใช้สิทธิ์แทนกัน และต้องเป็นเครื่องที่อยู่ต่างประเทศเท่านั้น คาดว่าการออกแบบระบบจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมิถุนายน 2560 และเชื่อว่าน่าจะได้นำมาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกปลายปี 2560 ตามโรดแมป
“คาดว่าใน 5 ปีแรก จะใช้ระบบ I – Vote สำหรับต่างประเทศเป็นทางเลือกผสมกับรูปแบบอื่น ๆ เช่น หน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่ จนเมื่อระบบเสถียร เป็นที่เชื่อถือ ก็จะให้ระบบการใช้สิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตเป็นระบบเดียว เพราะลดค่าใช้ลงจาก 30 ล้านบาท เหลือเพียงราว 5 ล้านบาทเท่านั้น โดยในครั้งแรกจะใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณเพื่อวางระบบครั้งแรก ทั้งการวางโปรแกรม การสร้างความปลอดภัย การไปดูการใช้งานจริงราว 15 ล้านบาท จากนั้นเมื่อระบบเดินหน้าแล้ว เชื่อว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวจะต่ำมาก” นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย