กรุงเทพฯ 13 ต.ค. – กระทรวงแรงงานร่วมมือมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ผุดโครงการ “คนไทย ก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” จัดทำแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน ให้ความรู้กลุ่มแรงงาน แก้ปัญหาหนี้สิน หลังพบคนไทยมีทักษะการเงินต่ำกว่า 14 ประเทศเศรษฐกิจระดับเดียวกัน
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า หลังพบว่าคนไทยมีทักษะทางการเงินต่ำกว่า 14 ประเทศ ซึ่งมีการพัฒนาเศรษกิจระดับเดียวกัน จึงร่วมกับหลายหน่วยงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน ภายใต้โครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ระหว่างมูลนิธิซิตี้ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กระทรวงแรงงาน หวังเพิ่มทักษะทางการเงิน เพราะมีความจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญภาระหนี้สูงขึ้น เพราะขาดความรู้และทักษะทางการเงินจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการเงินเร่งด่วน
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน จึงแก้ปัญหาหนี้สินให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรและนำเครื่องมือการเรียนรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้งานจริง โดยขณะนี้ภาครัฐวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติและร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายไปสู่แผนปฎิบัติการให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงินถูกพัฒนาโดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ฉลาดคิดเรื่องเงิน ชุดความรู้การบริหารการเงินส่วนบุคคล แบบทดสอบ ตลอดจนเครื่องคำนวณทางการเงิน ภายใต้ 4 โมดูลย่อย ได้แก่ การตั้งเป้าหมายทางการเงิน การออมอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้จ่าย การบริหารหนี้ 2. เกมครอบครัวหรรษา จึงออกแบบตัวละครให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงแรงงาน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาทิ ค่าเดินทาง การซื้อหวย ซื้อประกัน ทำงานโอที เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพฯ ดังกล่าวได้ทั้ง Google Play และ App Store เพื่อต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน ทำให้ภาระหนี้ต่อจีดีพีลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การร่วมกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเชียพัฒนาวิธีสร้างการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์เทรนนิ่งผ่าน “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ที่มีทั้งชุดความรู้ทางการเงินและเกมออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมแรงงานยุคใหม่ ด้วยการบรรจุหลักสูตรฝึกอบรมการบริหารการเงินให้กลุ่มแรงงาน ให้มีความรู้ทางการเงิน เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มแรงงานในและนอกระบบทั่วประเทศประมาณ 38.4 ล้านคน มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางและต่ำถึงร้อยละ 83 นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานยุคใหม่อายุระหว่าง 25 – 35 ปี มีอัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเข้าถึงบริการทางการเงินสะดวก จึงทำให้แรงงานยังประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ แม้ว่าแรงงานจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้แรงงานวางแผนทางการเงินระยะยาว
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยรายได้เฉลี่ย 26,915 บาทต่อเดือน แต่รายจ่ายสูงถึง 21,157 บาท จึงมีภาระหนี้สินภาคครัวเรือนสูง 156,770 บาทต่อปี ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนรวม 11.24 ล้านล้านบาท ประมาณ 14-15 ล้านคน สัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 81.3 ในไตรมาส 2 ลดลงจากไตรมาส 1 มีสัดส่วนร้อยละ 81.5 เนื่องจากคนไทยแม้เรียนจบการศึกษาสูงแต่ยังมีความรู้ทางการเงินน้อย เพราะเมื่อได้ยินคำว่า ” ท่านมีสิทธิ์, ลดภาษี, ลดราคา, ไม่ซื้อแล้วถือว่าโง่ ” ทำให้คนไทยตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าวอย่างรวดเร็วจนเกิดภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ต้องการเสนอให้ผู้มีอาชีพอิสระสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อสะสมเงินออมระยะยาวแล้วให้ กอช.บริหารเงินสะสม เพื่อนำเงินไปใช้ในยามเกษียณอายุทำงานและควรสะสมให้เต็มสิทธิ์ 13,200 บาทต่อปี เพื่อให้รัฐบาลจ่ายสมทบเต็มเพดาน เมื่อเกษียณอายุวัยชราจะมีเงินได้ใช้ระยะยาว.-สำนักข่าวไทย