กรุงเทพ ฯ 6 ธ.ค. – ซีไอเอ็มบีไทยตั้ง 3 สมมติฐานการเมือง ชี้หากมีการเลือกตั้ง พ.ย.ปี 61 ตั้งรัฐบาลประชาธิไตยจะหนุนเศรษฐกิจไทยโตสูงถึงร้อยละ 4.5 แต่หากเลื่อนเลือกตั้งจีดีพีปีหน้าจะโตร้อยละ 3.5-3.8
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 จากปีนี้ที่ขยายตัวโตร้อยละ 3.9 ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 จากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และการท่องเที่ยวยังขยายดี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 37.5 ล้านคน ส่วนการนำเข้าจะขยายตัวมากขึ้นที่ร้อยละ 6 ตามการผลิตที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องขยายตัวร้อยละ 3.8 หลังจากอ่อนแอมาหลายปี ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดขยายตัวร้อยละ 9.8 หากการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องได้2 ไตรมาสจะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคจะกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 3.5
นายอมรเทพ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้งปีหน้าที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภค โดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยมีสมมติฐานการเมืองเป็น 3 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่ 1 เลื่อนการเลือกตั้ง ด้วยปัจจัยติดขัดในกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ การตกลงเจรจาไม่ได้ข้อสรุป ทำให้แผนการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ชะลอการบริโภค หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-3.8 สถานการณ์ที่ 2 มีการเลือกตั้ง ภายใต้สมมติฐานว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้สานต่อการบริหาร เพื่อรักษาความต่อเนื่องของนโยบายประมาณการจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 3.7-4
ส่วนสถานการณ์ที่ 3 มีการเลือกตั้งภายใต้สมมติฐาน คสช.เปลี่ยนผ่านรูปแบบการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐบาลมาที่วุฒิสภา โดยให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์อาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การเมืองไทยมีรัฐบาลประชาธิปไตย คาดว่าจะทำให้ความมั่นใจและความนิยมจากต่างชาติดีขึ้นประมาณการจีดีพีจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.9-4.5
“ปีทองของไทยจริง ๆ ไม่ใช่ปีหน้า ทางธนาคารมองว่าปีทองทางเศรษฐกิจของไทย คือ ปี 2562 เพราะหลังการเลือกตั้ง คนจะกลับมาลงทุนและการบริโภค รัฐบาลชุดถัดไปของ คสช.นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่ คสช.ได้ทำและเดินหน้ามาแล้วจะเริ่มเห็นผลและขับเคลื่อนได้ในปี 2562” นายอมรเทพ กล่าว
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2561 คาดว่าจะคงที่ร้อยละ 1.50 ตลอดปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินบาทคาดว่าจะยังอ่อนค่าประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งในปี 2561. – สำนักข่าวไทย