สธ.30 พ.ย.-รมว.สาธารณสุข เร่งรัดการดำเนินงาน 3 เรื่อง ปีงบประมาณ 2561 คือการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบส่งต่อการป้องกันควบคุมวัณโรค และแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง
วันนี้ (30 พ.ย.)ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติงานของผู้บริหารกระทรวง (Performance Agreement: PA) ประจำปี 2561ในระดับกระทรวงระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และระหว่างผู้บริหารในแต่ละระดับ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลาง ประกอบด้วย อธิบดีทุกกรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการสำนัก/กองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ร่วมพิธีลงนาม 260 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเน้นหนัก 3 เรื่องคือ1.การพัฒนาคุณภาพห้องฉุกเฉิน ทั้งการเพิ่มอัตรากำลังและพัฒนาทักษะบุคลากร การลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน และการพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์คุณภาพ
2.การป้องกันควบคุมโรควัณโรค ทั้งการค้นหาผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยเบาหวาน และแรงงาน การสอบสวนโรค และการรักษาผู้ป่วยวัณโรค เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคและป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยา ซึ่งขณะนี้อัตราความสำเร็จของการรักษาวัณโรคของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ80 ตั้งเป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดอัตราป่วยให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรภายในพ.ศ. 2578 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
และ3.การแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ซึ่งปัจจุบันมี 87 แห่ง ลดอัตราหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 6
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวง ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขในหน่วยงาน ซึ่งผลการสำรวจในปีที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยความสุขด้านการเงินของบุคลากรมีค่าน้อยที่สุด จึงได้สำรวจสภาพหนี้ของบุคลากรเพื่อเป็นข้อมูลเจรจากับธนาคารในการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน และในระยะต่อไปจะขอสินเชื่อเรื่องรถคันใหม่หรือบ้านสวัสดิการให้แก่บุคลากร
สำหรับคำรับรองการปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ 2561 มี15 ประเด็น คือ 1.คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.)สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน
2.ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ (PCC)
3.ลดปัญหาวัณโรค
4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการกําลังคนด้านสุขภาพ(กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแห่งความสุข) ให้บุคลากรคงอยู่ในระบบ มีความสุข และเป็นมืออาชีพ
5.การเงินการคลัง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ให้เกิดความยั่งยืนของระบบ
6.โรงพยาบาลพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม (Green and Clean Hospital)
7.การใช้ยาสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU)
8.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ (ECS) เน้นระบบการคัดแยกผู้ป่วยตามความเร่งด่วน 5 กลุ่ม คือ ฉุกเฉินวิกฤติ ฉุกเฉินเร่งด่วน ฉุกเฉินมาก ฉุกเฉินไม่เร่งด่วน และไม่ฉุกเฉิน
9.การพัฒนาระบบการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและภัยสุขภาพ (EOC)
10.ระบบบริการผ่าตัดแบบไม่ค้างคืน เพื่อลดวันนอน ลดการรอคิว เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของหน่วยงาน
11.เมืองสมุนไพร ใน 13 จังหวัดนำร่อง
12.พัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้มีคุณภาพ มาตรฐานเอชเอ (Hospital Accreditation) สร้างความเชื่อมั่นประชาชน
13.พัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต.ติดดาว
14.การบริหารจัดการภาครัฐ เพิ่มศักยภาพและคุณภาพหน่วยบริหาร
และ15.การพัฒนาตามบริบทของเขตสุขภาพโดยมีการติดตามความคืบหน้าทุก 3, 6, 9 และ 12 เดือน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดประชาชนผู้รับบริการพึงพอใจคุณภาพการให้บริการ .-สำนักข่าวไทย