ภูเก็ต 23 พ.ย.- ผอ.สำนักพุทธภูเก็ตเผยตรวจสอบเบื้องต้นแล้วข้อเรียกร้องวัดใต้ ไม่มีโบสถ์ปลอมและมีการนำทัวร์จีนไหว้พระ-เช่าวัตถุมงคลเป็นเรื่องศรัทธาของบุคคล และเพื่อกระจ่างชัดเตรียมตรวจสอบอีกรอบ
กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ปลอม ในพื้นที่วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับทัวร์จีนเข้าไปสักการะ รวมทั้งภายในโบสถ์ยังมีพระสงฆ์นั่งสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มีมรรคนายกทำหน้าที่เล่าสรรพคุณของพระเครื่อง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีนเช่าไปบูชาในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดถึง 4 เท่า พร้อม เรียกร้องให้สำนักพระพุทธศาสนาเข้ามาตรวจสอบการดำเนินก่อสร้างและนำนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการบูชาดังกล่าว
ล่าสุดนายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีคำสั่งให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และในส่วน พศ.จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่า อาคารดังกล่าวไม่ใช่โบสถ์ปลอม เป็นเพียงเสนาสนะสิ่งก่อสร้างภายในวัด ที่จะต้องก่อสร้างให้มีอัตลักษณ์ความเป็นวัด ทั้งในส่วนของรูปแบบอาคารและลาดลายไทย เท่านั้น โบสถ์จริงของวัดมีอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่วนการจัดทัวร์จีนเข้าไปไหว้พระ และให้เช่าบูชาวัตถุมงคลกับนักท่องเที่ยวจีนนั้น เป็นการบริหารจัดของวัดกับคนเช่าพื้นที่ ซึ่งวัดให้เอกชนชาวไทยเช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ก่อสร้างอาคารดังกล่าว และพระพรหม เป็นสัญญาแบบปีต่อปี ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท เพราะการเช่าที่วัดนั้น หากเช่าไม่เกิน 3 ปี เจ้าอาวาสมีสิทธิที่จะทำสัญญาเช่าได้ แต่ถ้าเช่าตั้งแต่ 3 ปี เป็นต้นไปจนถึง 20 ปี จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.)
“ทางวัดและผู้เช่าสามารถดำเนินการได้ เพราะตามสัญญาที่ทำกันนั้นเช่าเพื่อพาณิชย์ ซึ่งไม่ขัดกับศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม ส่วนข้อสังเกตที่ว่าสามารถใช้เช่าวัตถุมงคลและพระเครื่องภายในวัดได้หรือไม่นั้น หากวัตถุมงคลและพระเครื่องที่นำมาให้เช่า มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนก็สามารถที่จะดำเนินการได้ สำหรับราคาที่บอกว่าสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว เข้าข่ายหลอกลวงนักท่องเที่ยวนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา และความพึงพอใจของของผู้เช่าบูชาแต่ละคน เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสูงหรือต่ำ แต่ยอมรับว่ามีการนำเสนอวัตถุมงคลให้นักท่องเที่ยวเช่าจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม นายวิญญา กล่าวว่า เพื่อการตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งในเรื่องก่อสร้างอาคารที่ถูกระบุว่าเป็นโบสถ์ปลอม และวัตถุมงคลที่นำมาให้นักท่องเที่ยวเช่านั้น ในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) สำนักพระพุทธฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงอีกครั้ง หากพบว่ามีการหลอกลวงนักท่องเที่ยวโดยการนำวัตถุมงคลปลอมให้เช่าบูชา จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/11/1511425157017.jpg)