กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – รัฐบาลเดินหน้าเปิดโครงการระบบจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดโครงการระบบจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และสร้างดัชนีชี้วัดต้นแบบประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งข้อมูลที่มีอยู่และข้อมูลส่วนที่ขาดหายเชื่อมโยงคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับจัดทำดัชนีชี้วัดที่สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใช้เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพและประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายและการจัดการน้ำ โดยหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนให้ความร่วมมือการให้ข้อมูลระหว่างการจัดเก็บข้อมูลทั่วประเทศช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2562
ทั้งนี้ ถือเป็นการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับพื้นที่ย่อยในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั้งพื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ในเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วระหว่างหน่วยงานและข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการจัดเก็บใหม่เพิ่มระดับพื้นที่ย่อยให้พร้อมเชื่อมโยงเข้าสู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนเข้าใจสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ย่อย ระดับจังหวัด ระดับลุ่มน้ำย่อย ระดับลุ่มน้ำ และระดับประเทศในมิติต่าง ๆ ด้วยการใช้ฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นร่วมกัน ส่งผลให้ประเทศสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแผนการพัฒนาประเทศ
ด้านนายภุชพงศ์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จะช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลเชิงบูรณาการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นการลดความซ้ำซ้อนการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้วิเคราะห์และจัดลำดับความมั่นคงของทรัพยากรน้ำนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนอนาคต
ขณะที่ รศ.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ที่ปรึกษาโครงการระบบจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ฯ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ได้ใช้เวลาทำโครงการรวม 30 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 ถึง 15 กันยายน 2562 ศึกษาดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ การจัดเก็บข้อมูลที่ขาดหายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และทำดัชนีชี้วัดต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่ได้ทำการพัฒนาขึ้นมาใช้ในโครงการนี้ โดยดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำจะใช้วัดระดับการบริหารจัดการน้ำแต่ละพื้นที่และเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอนาคตรวม 8 มิติ คือ ต้นทุนทรัพยากรน้ำ การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนาความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมน้ำ การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ การจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และสุดท้ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ.-สำนักข่าวไทย