อุบลราชธานี 7 พ.ย.- ชัดเจนแล้วชาวเน็ตได้เลิกกังขา เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบอธิบายละเอียดยิบขั้นตอนออกใบอนุโมทนาบัตรให้ผู้บริจาคเงินวัดใช้ลดหย่อนภาษีประจำปี ขณะที่เจ้าคณะตำบลวอนทบทวนหากเรียกเก็บภาษีวัด ชี้บางวัดไม่มีรายได้ แม้แต่กฐินผ้าป่า
พระครูธีรปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดแสนสำราญ และเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ ฝ่ายธรรมยุต จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกรณีมีข้อสงสัยแชร์ผ่านโซเชียลการออกใบอนุโมทนาบัตรของวัดแต่ละแห่ง ที่มีการออกจำนวนเงินเกินกว่าที่บริจาค เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษี รวมทั้งมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากวัดว่า การออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินแก่วัด เพื่อนำไปใช้ในกิจการของสงฆ์ต้องออกให้ในจำนวนที่บริจาคตามความจริง เนื่องจากมีคณะกรรมการวัดเป็นผู้ดูแลรายรับรายจ่ายต้องลงรายละเอียดไว้ในสมุดคุมการใช้จ่ายของวัดทุกขั้นตอน เพราะวัดเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ ตามระเบียบปฏิบัติการออกใบอนุโมทนาบัตรนอกจากเจ้าอาวาสเป็นผู้ลงนามแล้ว ต้องมีไวยาวัจกรร่วมลงนามทุกครั้ง เมื่อเสร็จจากการจัดงานต่าง ๆ วัดยังต้องประกาศให้ชุมชนรับทราบ และเมื่อมีประชาชนนำใบอนุโมทนาบัตรไปขอลดหย่อนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะมีการตรวจสอบกลับมาที่วัดมีรายการบริจาคจริงตามที่ยื่นขอลดหย่อนภาษีด้วยหรือไม่ ขอยืนยันว่าการจะออกจำนวนเงินให้เกินกว่าการรับบริจาค ไม่สามารถทำไม่ได้ เพราะเจ้าอาวาสถือเป็นเจ้าพนักงาน หากทำเช่นนั้นถือว่ามีความผิดด้วย และการออกใบอนุโมทนาบัตร ถ้ามียอดบริจาคเกินกว่า 500,000 บาท เจ้าอาวาสไม่สามารถลงนามได้ ต้องให้เจ้าคณะตำบลเป็นผู้ลงนามแทน
พระครูธีรปัญญาภรณ์ กล่าวด้วยว่า การออกใบอนุโมทนาบัตรให้เป็นชื่อบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่บริจาคให้กับวัดในนามของบุตรหลานนั้น เป็นจุดประสงค์ของผู้บริจาค แต่การออกให้ต้องเป็นไปตามจำนวนจริงที่บริจาค
ด้านพระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ และเจ้าคณะตำบลในเมือง ฝ่ายธรรมยุต อ.เมืองอุบลราชธานี กล่าวถึงการเก็บภาษีวัดว่า ปัจจุบันวัดที่ใช้บัญชีของธนาคารกรุงไทย (มหาชน) จำกัด ต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจากการยื่นขอเงินอุดหนุนวัดในแต่ละปีกับสำนักงานพระพุทธศาสนาต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในนามของวัดอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะเรียกเก็บภาษีกับวัด เพราะวัดเป็นศาสนสถานไม่ได้มีการประกอบการค้า มีรายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินบริจาคของประชาชน เงินค่าฌาปนกิจ เงินจากการทอดกฐิน การจัดผ้าป่าสามัคคี และวัดก็ได้เสียภาษีผ่านการจ่ายค่าน้ำ ค่าใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว หากมองว่าวัดใหญ่ ๆ มีชื่อเสียงมีรายได้เข้ามากก็ควรไปจัดเก็บจากวัดที่มีรายได้เหล่านั้น ไม่ควรเรียกเก็บแบบครอบคลุม เพราะบางวัดตามชนบทบางปีไม่มีแม้กระทั่งผ้าป่าสามัคคี แต่พระที่จำพรรษาต้องอยู่ดูแลชุมชนและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงไม่เห็นด้วยถ้าจะเรียกเก็บภาษีวัดทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย