ก.คลัง 3 พ.ย. – บอร์ด PPP บี้ รฟท.นำแผนพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธินไปรวบรวมก่อนกลับมาเสนอให้ครอบคลุมที่ดินทั้งแปลง A, B, C, D หลังวันนี้แยกเสนอเฉพาะแปลง A มูลค่าการลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP วันนี้ (3 พ.ย.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีวาระที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอขออนุมัติแผนการพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธินในส่วนของที่ดินแปลง A ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ครอบคลุมของที่ตั้งสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางระบบคมนาคมขนส่งทางรางในอนาคต
สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีรูปแบบร่วมทุนแบบ PPP ลักษณะที่เอกชนจะเข้ามาดำเนินการออกแบบ ลักษณะโครงการ, ก่อสร้าง, บริการพื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ หลังครบอายุร่วมทุนภายใน 30 ปี มูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านบาท โดย รฟท.มั่นใจการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีระบบขนส่งที่จะทำให้มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเป็นที่น่าพอใจ หรือประมาณร้อยละ 14 ซึ่งประเด็นนี้จะต้องพิจารณารายละเอียดการออกแบบลักษณะโครงการอีกครั้ง โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของ รฟท. แต่เสนอให้กลับไปทำแผนการพัฒนาที่ดินย่านพหลฯ ให้ครอบคลุมที่ดินทุกแปลง คือ ทั้งแปลง A, B, C, D แล้วนำกลับมาเสนอคณะกรรมการ PPP โดยเร็วที่สุดอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพื้นที่ย่านพหลโยธินของ รฟท. ซึ่งครอบคลุมสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์คมนาคมสำคัญของระบบรางในอนาคต พื้นที่แบ่งเป็น 4 โซน เพื่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คือ โซน A ขนาด 35 ไร่ (ตั้งอยู่ด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) โซน B ขนาด 78 ไร่ (ตั้งอยู่ใกล้ตลาดนัดจตุจักร) และโซน C ขนาด 105 ไร่ (ตั้งอยู่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพหรือหมอชิตใหม่ในปัจจุบัน) และโซน D เนื้อที่รวมกว่า 83 ไร่ เป็นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างแนวแกนทางเดินเท้าทั้งแบบเหนือดินและบนดินโดยทางเดินเท้าเชื่อมต่อแบบเหนือดิน (Skywalk) จะมีระยะทางรวมประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางเดินเชื่อมต่อระดับดินไปยังสถานีย่อยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีระยะทางรวมประมาณ 1.4 กิโลเมตร โดยที่ดินทั้งหมด รฟท.มีแผนการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้มาจากธุรกิจหลักหรือธุรกิจเดินรถ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบแนวทางตามที่รองนายกรัฐมนตรีหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมเมื่อวานที่ผ่านมาและมีข้อสรุปที่จะเร่งรัดโครงการระบบรถไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในส่วนภูมิภาคพื้นที่จังหวัดภูเก็ต, ขอนแก่น, นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยตามแผนเดิมจะมีการเร่งรัดโครงการและนำเข้าสู่ระบบ PPP fast track ในส่วนของรถไฟฟ้าที่จะดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ ซึ่งมีกำหนดการที่จะให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนขออนุมัติโครงการเดือนมิถุนายน 2561 คณะกรรมการ PPP ได้ขอให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอแผนการพัฒนารถไฟฟ้าทั้ง 4 จังหวัดเข้าสู่ระบบ PPP fast track พร้อมกัน .-สำนักข่าวไทย