กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – กรมทางหลวงจับมือ กยท.นำวัสดุยางพาราใช้งานก่อสร้างเขตทาง นำร่องหลักนำทางกว่า 100,000 ต้น ขณะที่ กยท.ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้ประโยชน์วัสดุที่ทำจากยางพาราเป็นร้อยละ 30 ใน 3 ปี ลดการพึ่งพิงการส่งออก
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนาและการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวง เน้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัย ต่อยอดสู่การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา หรือเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ
นายธานินทร์ เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้รับนโยบายจากรัฐบาลศึกษาและนำผลผลิตทางการเกษตรยางพารามาวิจัยศึกษาและใช้ประโยชน์การก่อสร้างทาง โดยกำหนดปริมาณการใช้ไม่น้อยกว่าปีละ 9,000 ตันน้ำยาง โดยต้นปี 2560 กรมทางหลวงนำน้ำยางพาราก่อสร้างผิวถนนประมาณ 1,000 ตันน้ำยาง และใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท และจากการร่วมมือวันนี้ได้นำยางพาราไปต่อยอดจากการก่อสร้างวัสดุในเขตทางต่าง ๆ เพิ่มไม่ว่าจะเป็นหลักนำทางอุปกรณ์เครื่องกั้น (barrier) ผิวฟุตบาท โดยเฉพาะมีความชัดเจน คือ หลักนำทางสามารถใช้วัสดุแผ่นยางพาราไปก่อสร้าง โดยนอกจากจะสามารถใช้ปริมาณยางพาราอีก 8,000 ตันที่เหลือตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว การผลิตหลักนำทางจากยางพารายังมีผลดีทั้งลดงบประมาณ ซึ่งเดิมหากมีการนำน้ำยางอีก 8,000 ตันไปก่อสร้างผิวถนนก็ต้องใช้งบประมาณอีก 4,000 ล้านบาทที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างดังกล่าว หากใช้ยางแผ่นมาก่อสร้างหลักนำทางก็ใช้งบประมาณอีกแค่ 400 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ มีการนำร่องหลักนำทางกว่า 100,000 ต้น
ทั้งนี้ แม้ต้นทุนการผลิตหลักนำทางเมื่อเปรียบเทียบหลักที่ใช้วัสดุซีเมนต์ ซึ่งมีต้นทุนต้นละประมาณ 800 บาท ส่วนหลักนำทางผลิตจากวัสดุยางพารามีต้นทุนต้นละประมาณ 2,000 บาท แต่หลักนำทางที่ทำจากยางพาราจะมีข้อดีลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครั้งที่หลักนำทางซึ่งเป็นซีเมนต์และมีประชาชนผู้ใช้ทางถนนประสบอุบัติเหตุชนกับหลักเหล่านี้จนทำให้เสียชีวิต หากเป็นหลักยางพาราเมื่อเกิดการชนเสาเหล่านี้ก็จะหักไปทำให้โอกาสการเสียชีวิตของผู้ขับขี่ยานพาหนะลดลง หลังจากนี้กรมทางหลวงจะร่วมกับ กยท.ศึกษาเพื่อใช้วัสดุยางพาราในการก่อสร้างวัสดุเขตทางอื่น ๆ ต่อไป
นายธีธัช กล่าวว่า กยท.วางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศจากเดิมการผลิตแต่ละปีจะใช้ในประเทศประมาณร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นการส่งออก ในอนาคตจะมีการปรับสัดส่วนให้มีการใช้วัสดุที่ผลิตจากยางพาราในประเทศให้ได้สัดส่วนร้อยละ 30 ภายใน 3 ปี ขณะที่ปัญหายางพาราตกต่ำแต่ละปีนั้น จะมีช่วงเวลาหลังหน้าฝนที่ชาวสวนยางพาราสามารถกลับมาตัดยางได้ตามปกติก็จะทำให้มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดจำนวนมากส่งผลต่อราคา ทำให้ลดต่ำลง ซึ่งแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้ภายในประเทศก็จะเป็นทางออกหนึ่งช่วยลดปัญหาด้านราคาด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย