นครปฐม 19 ต.ค.-นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม นำแมลงหางหนีบสีดำที่เพาะไว้ ไปปล่อยในแปลงอ้อยและข้าวโพด วิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการทำลายศัตรูหนอนและเพลี้ยอ้อย
นางศิริจันทร์ อินทร์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม กล่าวว่า พื้นที่ใน จ.นครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง ปลูกอ้อยและข้าวโพดกันมาก และประสบปัญหาการระบาดของหนอนและเพลี้ยระบาด เมื่อใช้สารเคมีกำจัด ทำให้ต้นทุนสูง และสุขภาพของเกษตรกรที่ได้รับสารเคมีก็อ่อนแอลงด้วย ศูนย์วิจัยฯ จึงเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบสีดำ ซึ่งพบอยู่ตามธรรมชาติ และปกติจะกัดกินหนอนและเพลี้ยอ้อยและข้าวโพดอยู่แล้ว จากนั้นนำมาขยายพันธุ์ แล้วทดลองปล่อยในแปลงทดลอง สัดส่วนที่เหมาะสมในการปล่อยแมลงหางหนีบสีดำ ที่สามารถควบคุมการระบาดของหนอนและเพลี้ยได้ คือ 500 ตัว ต่อ 1 ไร่ โดยเกษตรกรต้องหมั่นสำรวจไร่ของตนเอง เพราะการปล่อยแมลงหางหนีบสีดำ ตั้งแต่พบหนอนและเพลี้ยตั้งแต่ระยะแรกจะควบคุมได้ดีกว่า กว่าการปล่อยให้ระบาดมากแล้ว ซึ่งหากปล่อยตั้งแต่ระยะแรกก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลงใดๆ
ศิริจันทร์ อินทร์น้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม จากแปลงวิจัยสู่แปลงเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม ได้นำแมลงหางหนีบไปแจกจ่ายให้เกษตรกรเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อปล่อยในไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอีกเลย
การใช้แมลงหางหนีบกำจัดเพลี้ยงและหนอนในไร่อ้อยและข้าวโพด เป็นการปราบศัตรูพืชโดยใช้วิธีชีวภาพ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพราะไม่ต้องซื้อยาฆ่าแมลงที่มีราคาแพง แต่ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียนแทน เกษตรกรนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์เองได้ ตรงกับเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต.-สำนักข่าวไทย