ศูนย์สิริกิติ์ 21 ต.ค.-นักวิชาการเผยพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงพัฒนาความเป็นอยู่ เเต่พัฒนาปัญญา ด้วยพระราชนิพนธ์
นางตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พระราชนิพนธ์ชิ้นเอกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือเรื่อง ‘พระมหาชนก’ ทรงฟังพระสงฆ์เเสดงธรรมเทศนาในช่วงท้ายของเรื่องพระมหาชนกที่ตอนหนึ่งเปรียบเทียบต้นมะม่วง2 ต้น หนึ่งมีผู้คนถาโถมเข้ามาเเย่งชิงกันจำนวนมากเพราะพระมหาชนก ชมว่ารสชาติดี เเต่อีกต้นกลับไม่มีคนห้อมล้อมเพราะไม่มีผล จึงทรงได้เเรงบันดาลพระราชหฤทัย และกลับไปศึกษาเรื่องพระมหาชนกอย่างจริงจัง เเละพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่
ช่วงต้นทรงใช้เค้าโครงเดิม ส่วนช่วงปลายสอดเเทรกพระราโชบาย นำต้นมะม่วงมาเป็นต้นเเบบการพัฒนา ที่จะบอกว่าสังคมที่พอเพียงจะยั่งยืนเเละยาวนานกว่าสังคมที่เเย่งชิงเเละเห็นเพียงผลประโยชน์ของตน ทั้งสอนเรื่องการทำมาหากินให้ประชาชนด้วยการให้การศึกษา จัดตั้งปูทะเลย์วิชชาลัยเพื่อให้ความรู้เเละสามารถปลูกต้นมะม่วงที่อร่อยได้หลายๆต้น ขณะที่ตอนที่พระมหาชนกต้องว่ายน้ำในมหาสมุทร พระองค์ต้องการจะสื่อถึงความเพียร เเละย้ำว่าเมื่อเพียรเเล้วต้องมีปัญญาด้วย
ขณะเดียวกันเรื่องพระมหาชนกยังเเสดงพระปรีชาสามารถด้านภาษาเเละการเเปลฉบับเเรกที่ตีพิมพ์เป็นสองภาษา คือไทยเเละอังกฤษ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรัสได้หลายภาษา อาทิ อังกฤษฝรั่งเศส เยอรมัน ละตินเเละบาลีสันสกฤต ,พระราชนิพนธ์เรื่องทองเเดง สะท้อนถึงการเเก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ทรงรับเลี้ยงคุณทองเเดงมาเลี้ยงไว้ ชี้ให้เห็นว่าความรักไร้ชนชั้น ถึงจะเป็นสุนัขข้างถนนเเต่มีความรักเเละซื่อสัตย์ ความรักที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่เเค่มนุษย์เเละต้องเผื่อเเพร่ถึงเพื่อนร่วมโลก
พระราชนิพนธ์เเปลนายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ต้องการชี้ให้เห็นว่า คนดีที่เเท้จริงต้องปิดทองหลังพระ ไม่ต้องป่าวประกาศ โดยสมาคมภาษาเเละหนังสือเเห่งประเทศไทยได้ตีพิมพ์พระราชบันทึก พ.ศ.2489 บางตอนอาทิ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์เเลนต์” วันที่ 19 ส.ค. 2489 สะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชาที่มีประชาชนอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนา ไม่เฉพาะความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างเดียว แต่พัฒนาปัญญาประชาชนด้วยพระราชนิพนธ์ของพระองค์ด้วย
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้เขียนบทความเรื่องจากปลาบู่สู่ปลานิลบันทึกเรื่องราว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปลา สร้างความประทับใจให้หลายคน
สำหรับตนหากพูดถึงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนังสือพระราชนิพนธ์มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน หากไม่มีสารานุกรมก็ไม่มีตน ในสมัยนั้นเด็กไม่มีหนังสือที่ให้ความรู้เเละสร้างเเรงบันดาลใจอ่าน เเต่เมื่อได้อ่านทำให้ตนสนใจเเละใฝ่ฝันอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยา เเละตอนนี้ก็ทำได้สำเร็จ หนังสือเล่มนี้สร้างคน สำหรับตน พระองค์เป็นเเรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานมากที่สุด เเละอยากให้อ่านบทความของตนอีกเรื่องคือคุณจะซื่อสัตย์ต่อความทรงจำของคุณได้เเค่ไหน ตอนนี้วัดกับใจคุณ จะซื่อสัตย์กับพระองค์นานเเค่ไหน ซึ่งตนก็จะตั้งใจทำงานเพื่อพระองค์ถึงเเม้วันนี้พระองค์จะเสด็จสวรรคตเเล้วก็ตาม
ส่วนนายชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล นักการทูตชำนาญการพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หนังสือนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระเเละติโต ให้ความรู้ด้านการต่างประเทศอย่างดี เมื่ออ่านเเล้วสัมผัสถึงสิ่งที่ทรงเลือกเเปลเพื่อให้คนไทยได้เห็นความสำคัญของการสามัคคี เสียสละ เห็นประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในความพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเเละความยุติธรรม เเละยอมรับความเเตกต่างความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยพระองค์ท่านได้มีจิตวิญญาณของครู สอนให้อ่านเเละคิดต่อยอด
ภายในงานได้จัดเเสดงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาทิหนังสือพระราชนิพนธ์ทั้งเรื่องทองเเดงเเละพระมหาชนก เรื่องที่ทรงเเปล เช่นติโตเเละนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เช่น สารานุกรมไทย ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงรับสั่งว่า เป็นหนังสือรวมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดชได้อย่างครบถ้วนที่สุด หนังสือที่เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ เช่น สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เเละหนังสือที่ผู้ใกล้ชิดเขียนถึงความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน เช่น บันทึกความทรงจำ รอยพระยุคลบาท .-สำนักข่าวไทย