กรุงเทพฯ 8 เม.ย.-ปิดฉาก! งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 เผยนักอ่านแห่เข้าร่วมงานทะลุ 1.3 ล้านคน สูงกว่าเป้า ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งแผ่นดินไหว วิกฤตเศรษฐกิจ “Gen Z” ครองแชมป์นักอ่านที่เข้าร่วมงานมากสุด สร้างสีสัน ปลุกบรรยากาศคึกคัก มั่นใจกระแสตอบรับจากพันธมิตรต่างชาติ หนุนไทยขึ้น “ฮับอาเซียน” ในปี 2569
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 8 เมษายน 2568 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนนักอ่านที่เข้าร่วมงานตลอด 13 วันมีมากกว่า 1.3 ล้านคน ว้ แม้ว่าการจัดงานครั้งนี้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลกระทบทำให้ต้องปิดให้บริการเร็วกว่ากำหนด
อย่างไรก็ดี หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และกลับมาจัดงานตามปกติพบว่า นักอ่านกลับมาเข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยพบว่าในวันที่ 29 มีนาคม 2568 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 1 วัน มีนักอ่านเข้าร่วมงานมากกว่า 1.3 แสนคน บ่งชี้ให้เห็นว่า นักอ่านยังให้ความสนใจ และมุ่งมั่นที่จะมาเลือกซื้อหาหนังสือเล่มโปรด ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ในวันธรรมดาซึ่งปกติจะมีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนคนต่อวันสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ล่าสุดในวันที่ 6 เมษายน 2568 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1.7 แสนคน ถือเป็นสถิติใหม่ในการจัดงานครั้งนี้
ขณะเดียวกันยังพบว่า กลุ่มนักอ่านที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือ Gen Z คิดเป็นสัดส่วน 43.65% ตามด้วย Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 36.1%และ Gen X คิดเป็นสัดส่วน 19.75% ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นผู้หญิง 66% ผู้ชาย 27% LGBTQ+ 6% และไม่ระบุเพศอีกประมาณ 1%
โดยอัตราเฉลี่ยของการซื้อหนังสือ พบว่า นักอ่านใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 600 – 1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30.88% ตามด้วย 1,000 -1,500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.70% และมากกว่า 3,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 12.84%
นายสุวิช กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการจัดงาน Bangkok Rights Fair 2025 ที่พบว่ามีการซื้อขายลิขสิทธิ์ภายในงานมากถึง 271 คู่ จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 135 บริษัท ใน 14 ประเทศ/เขตแดน ประกอบด้วย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รัสเซีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ในกลุ่มประเทศดังกล่าวแบ่งเป็นบริษัทต่างชาติ 43 ราย และบริษัทไทย 92 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นจำนวนผู้ซื้อ 63 ราย และผู้ขาย 107 ราย จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้มียอดการซื้อขายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นภายในงานมากกว่า 68 ล้านบาท และในอนาคตจะมีการยกระดับการเจรจาซื้อขายหนังสือให้มากขึ้น และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหนังสือของอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี 2569
“ปีนี้ถือว่าสมาคมฯ ประสบความสำเร็จในด้านของการขยายตลาดไปต่างประเทศอย่างมาก เห็นได้จากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ Taipei Book Fair Foundation เพื่อเข้าร่วมงาน Taipei International Book Exhibition 2026 ในฐานะ Guest of Honor โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวน 30 สำนักพิมพ์ และมีมูลค่าการขายลิขสิทธิ์อยู่ที่ประมาณ 15.7 ล้านบาท
“ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ ผลักดัน “หนังสือไทย” เป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ชูความหลากหลายกิจกรรมไฮไลท์ภายในงานสัปดาห์หนังสือ 2568 มั่นใจภายใน 2 ปี พาหนังสือไทยขึ้นแท่น “ศูนย์กลางอาเซียน” 5 ปี สู่ “ศูนย์กลางเอเชีย” ส่วนเป้าหมายสูงสุด นั่งแท่น “ศูนย์กลางของโลก” ภายใน 10 ปี.-511.-สำนักข่าวไทย