ก.คลัง 14 ก.ย. – ผอ.ยาสูบคาดภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำรายได้หายเกือบ 7,000 ล้านบาท วอนรัฐบาลเยียวยา
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่มีผลบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน ด้วยการกำหนดอัตราภาษียาสูบใหม่คำนวณทั้งตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน และคำนวณตามมูลค่า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.กำหนดราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง จัดเก็บภาษีร้อยละ 20 ส่วนราคาเกิน 60 บาทต่อซอง จัดเก็บภาษี ร้อยละ 40 มาตรการดังกล่าว จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพยายามกำหนดราคาขายปลีกแนะนำไม่ให้เกิน 60 บาทต่อซอง เพื่อไม่ต้องเสียภาษีตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ส่วนโรงงานยาสูบต้องปรับเพิ่มราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 16 ยี่ห้อ ซึ่งกระจายอยู่ตามท้องตลาด เมื่อมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น จากเดิมเสียภาษี 25-40 บาทซอง เปลี่ยนเป็นภาระเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อซอง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระภาษี ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์การขายราคาไม่ให้เกิน 60 บาทต่อซอง เพื่อไม่เสียภาษีอัตราสูงขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อรักษาฐานลูกค้าโรงงานยาสูบไม่สามารถปรับเพิ่มราคาขายปลีกให้ซองละ 60 บาท ยอมรับว่าการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ขณะที่โรงงานยาสูบได้รับผลกระทบ ทั้งการสนองนโยบายของรัฐ จนสามารถคะแนนประเมินการทำงาน 4.5 คะแนน ดังนั้น กำไรสุทธิปรับลดลง อาจส่งผลให้คะแนนประเมินลดลงด้วย อาจกระทบต่อพนักงานอีกด้านหนึ่ง และยอมรับว่าการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่หวังลดการสูบบุหรี่ให้น้อยลง แต่อาจเกิดการหันไปสูบยาเส้นซึ่งราคาถูก บุหรี่หนีภาษีอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น การหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนการกักตุนสินค้าบุหรี่ช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าโรงงานยาสูบไม่ได้ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อกันไม่ให้มีการกักตุนตามนโยบายของรัฐบาล แต่ประเมินแล้วพ่อค้าแม่ค้าหันไปกักตุนบุหรี่ต่างประเทศ จึงคาดว่าในช่วง 3 เดือนของปีนี้ต้องระบายบุหรี่ที่กักตุนออกสู่ตลาด
ผอ.ยาสูบคาดว่าปีงบประมาณ 2561 อาจทำให้รายได้โรงงานยาสูบหายไปเกือบ 7,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีกำไรในปีงบประมาณ 2559 ขณะที่ปี 2560 ตั้งเป้า 9,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย