โรงงานยาสูบ 26 พ.ย. – โรงงานยาสูบเสนอคลังทบทวนภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ หลังพบมีบุหรี่ต่างประเทศบางยี่ห้อใช้ช่องโหว่กฎหมาย ผสมเทคนิคการทุ่มตลาด กระทบบุหรี่ไทยป่วน เพราะต้องขายราคาแพงขึ้นจากภาระภาษี อาจทำให้คนหันไปสูบบุหรี่ขาดคุณภาพยาเส้นเต็มตลาด
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ ร่วมกันแถลงถึงผลกระทบจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษีใน พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ใหม่ และศึกษาผลกระทบรอบด้าน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะหลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมกับการค้าบุหรี่ในไทย ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบทั้งเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ร้านค้ายาสูบ และโรงงานยาสูบเองได้รับผลกระทบ รวมทั้งการนำส่งเงินเข้าคลัง
เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ฉบับใหม่ เปลี่ยนจากเดิมเก็บภาษี 9 เท่าของราคาสำแดงนำเข้า (CIF) หรือราคาหน้าโรงงาน เปลี่ยนมาเป็นการคำนวณฐานภาษีจากปริมาณ และมูลค่าราคาขายปลีกแนะนำแทน แนวทางดังกล่าวจึงทำให้เกิดช่องว่างให้บุหรี่ต่างชาตินำเข้าบางยี่ห้อปรับลดราคาขายลง เพราะมีภาระภาษีลดลง เช่น บุหรี่ตรา L&M ขนาด 7.1 จากเดิมมีภาระภาษีสรรพสามิต 45 บาท เมื่อทำตามโครงสร้างภาษีใหม่กลับมีภาระภาษีเหลือเพียง 35.21 บาท หรือลดลงร้อยละ 21.76 ทำให้ราคาขายปลีกลดลงจาก 72 บาทต่อซอง เหลือ 60 บาทต่อซอง ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่เปิดทางให้เอกชนรายใหญ่ต่างชาติใช้เทคนิคการตลาดนำภาระภาษีแบรนด์พรีเมี่ยมจากยี่ห้อ Marlboro ลดลงมาช่วยชดเชยให้ยี่ห้อ L&M จึงขายบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อราคาลดลง สวนทางกับโรงงานยาสูบปรับราคา เพราะภาษีเพิ่ม
ขณะที่บุหรี่ไทยของโรงงานยาสูบส่วนมากเป็นบุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกลับมีภาระภาษีมากขึ้นทุกยี่ห้อ เช่น กรองทิพย์ จากเดิมมีภาระภาษี 53.82 บาทต่อซอง หลังใช้โครงสร้างภาษีใหม่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 59.51 บาทต่อซอง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.57 ราคาขายปลีกแพงขึ้น จากซอง 86 บาท เป็นซองละ 95 บาท ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากบริโภคบุหรี่ในประเทศเป็นบุหรี่ต่างประเทศแทน ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือทำให้จำนวนผู้สูบลดลง แต่กลับทำให้ยอดขายบุหรี่ในประเทศลดลง คาดว่าปี 2561 จะมียอดขายบุหรี่เหลือเพียง 17,000 ล้านมวนต่อปี และปี 2562 จะลดลงเหลือ 8,500 ล้านมวนต่อปี ลดลงจากปี 2560 ที่จำหน่ายได้ 28,000 ล้านมวน หากปัญหาดังกล่าวปล่อยไว้นานสุดท้ายจะทำให้บุหรี่ต่างประเทศครอบงำ ครองตลาดในประเทศไทย ส่งผลให้โรงงานยาสูบ รวมถึงร้านค้า และเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไม่สามารถอยู่ได้ เพราะปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของโรงงานยาสูบลดลงเหลือร้อยละ 65.92 จากเดิมร้อยละ 80 ในปีที่แล้ว ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.53
ทั้งนี้ เห็นได้จากเพียงช่วงเวลา 1 เดือนกฎหมายบังคับใช้ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดถูกต่างชาติแย่งไปจากร้อยละ 80 ลดเหลือร้อยละ 65.92 แนวโน้มจะลดลงอีก อีกทั้งยังผลักดันให้คนหันไปสูบยาเส้นไม่ปรุง เพราะภาษี 30-40 สตางค์ต่อกรัม แทบจะไม่เสียภาษี จึงเสนอให้คลังหาแนวทางช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการทุ่มตลาด และทบทวนกฎกระทรวงอัตราภาษีและความไม่ชัดเจนในการตั้งราคา เนื่องจากสรรพสามิตพูดมาตลอดเวลาว่ากฎหมายใหม่จะไม่ทำให้โรงงานยาสูบได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกันรัฐจะเสียรายได้จากเงินนำส่งของโรงงานยาสูบที่ต้องนำส่งรัฐร้อยละ 88 ของกำไรแต่ละปี จากปี 2560 ที่นำส่งรัฐกว่า 8,000 ล้านบาท กลับไม่มีเงินนำส่งเข้าภาครัฐปี 2561 นอกจากนี้ รัฐยังจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่าง ๆ จากการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ รวมมูลค่ากว่า 12,725 ล้านบาท จึงเสนอให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือโรงงานยาสูบ. – สำนักข่าวไทย