กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – โรงงานยาสูบเตรียมพร้อมก้าวสู่นิติบุคคล “การยาสูบแห่งประเทศไทย” รองรับการแข่งขันรุนแรง หลังปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ที่ประชุมใหญ่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ….ขณะนี้รอขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ทำให้โรงงานยาสูบเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล มีชื่อใหม่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “การยาสูบแห่งประเทศไทย” ชื่อย่อ “ยสท.” ชื่อภาษาอังกฤษว่า Tobacco Authority of Thailand “TOAT” แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง
สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เมื่อเปลี่ยนสถานะครั้งนี้จะเปิดทางให้ดำเนินธุรกิจอื่นได้หลากหลายเกี่ยวกับยาสูบและกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับจ้างผลิตยาสูบ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และได้ลงนาม MOU แต่งตั้งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซีเป็นตัวแทนจำหน่ายในลาว กัมพูชา ส่วนเวียดนาม เมียนมาร์ ต้องให้บริษัทท้องถิ่นเป็นผู้จำหน่าย ปัจจุบันมีต่างชาติหลายรายสนใจว่าจ้างโรงงานยาสูบผลิตบุหรี่เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างประเทศ จึงส่งผลดีระยะยาวต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเจรจากับจีนหลายมณฑลยูนนาน ปักกิ่ง ฉงชิ่ง เพื่อรับจ้างผลิต (OEM) จึงต้องเตรียมลงทุนพัฒนาเครื่องจักรเพิ่ม เสนอกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้รองรับการใช้เป็นทุนหมุนเวียน การพัฒนาเครื่องจักรประมาณ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันเหลือทุนหมุนเวียนไม่ถึง 5,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก หลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต จึงคาดว่าจากผลประกอบการมีกำไร 9,344 ล้านบาท อาจต้องมีผลขาดทุน 1,500 ล้านบาทในปี 2561 กำลังการผลิตยาสูบจาก 32,000 ล้านมวนต่อปีในปี 2560 ลดเหลือ 18,000 ล้านมวนต่อปี แต่เมื่อรับจ้างผลิตยาสูบและธุรกิจอื่นเพิ่มในปี 2563 คาดว่าเครื่องจักรโรงงานยาสูบแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกำลังการผลิตสูงถึง 65,000 ล้านมวนต่อปี มองว่าภารกิจใหม่ยังพอเป็นช่องทางให้ ยสท.พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่ยังส่งเสริมให้ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยาสูบและใบยาสูบ รวมถึงการศึกษาปลูกพืชชนิดใหม่ คือ กัญชง หรือเฮมพ์ (Hemp) เพราะมีแนวโน้มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยในอนาคตก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท แต่ขณะนี้ยังมีความยุ่งยากในการขออนุญาตการปลูกและส่งเสริมเกษตรกร เนื่องจากการปลูกเฮมพ์ นำเส้นใยมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตบุหรี่ เช่น กระดาษห่อมวนและก้นกรองบุหรี่จากเส้นใยเฮมพ์ และผลพลอยได้สำหรับอุตสาหกรรมอื่นทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มวลเบา วัสดุก่อสร้าง ยาและเวชภัณฑ์ที่ทั่วโลกมีความต้องการมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย