นนทบุรี 14 ก.ย. – อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ดีต่อเนื่อง หลายปัจจัยหนุนดันยอดธุรกิจโตตามเศรษฐกิจฟื้น พร้อมร่วมมือสถาบันการศึกษาส่งเสริมผู้ประกอบการไทยทันตามกระแสโลก
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงยอดการจดทะเบียนธุรกิจเดือน สิงหาคม 2560 ว่า มียอดผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 7,159 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 5,979 ราย เพิ่มขึ้น 1,180 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 และเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 6,200 ราย เพิ่มขึ้น 959 ราย คิดเป็น ร้อยละ 15 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก 1,755 ราย เพิ่มขึ้น 129 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,626 ราย และเพิ่มขึ้น 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,747 ราย
ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 47,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,096 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 21,258 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 27,993 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 19,361 ล้านบาท ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 621 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 394 ราย ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 218 ราย ธุรกิจการขนส่งสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 142 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 138 ราย ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 1,409,392 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 21.58 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 670,513 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 487,891 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,176 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,446 ราย ส่งผล 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ส.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท 49,080 ราย มีมูลค่าจดทะเบียนทั้งสิ้น 232,893 ล้านบาท เห็นได้ว่าจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 6,169 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 42,911 ราย คาดว่ายอดจดทะเบียนปีนี้น่าจะโตถึงร้อยละ 7 จากปีที่แล้วโตร้อยละ 3 ยอดรวม 65,000-66,000 ราย และจากการปรับแนวทางหรือลดขั้นตอนต่าง ๆ ให้มีความสะดวก โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้จะทำให้การจัดอันดับของหลายประเทศต่อประเทศไทยที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนจะอยู่ในอันดับดีขึ้นแน่นอน
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ด้านภาษีเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มาตรการภาษีสนับสนุนการจัดทำบัญชีของ เอสเอ็มอี ประกอบกับ การผลักดันโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหลายโครงการ ทำให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความผันผวนของตลาดเงินโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรป รวมทั้งสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กรมฯ จับมือมหาวิทยาลัยศรีปทุมเดินหน้าสบับสนุนดันตลาดอี-คอมเมิร์ซ หนุนยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศสู่การแข่งขันระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีแนวทางส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมริ์ซ 3 ด้าน คือ 1.สร้างและพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจให้ใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ โดยจัดอบรมสร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ พัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างความรู้ 2.การยกระดับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการออกเครื่องหมายรับรองการมีตัวตนและการมีคุณภาพของธุรกิจในเครื่องหมาย DBD Registered และ 3.การเสริมสร้างโอกาสและกระตุ้นการค้าออนไลน์ อาทิ กิจกรรมลดราคาสินค้า Thailandmegasale.com, Thailand e-Commerce Day, DBD e-Commerce Website Award และการพัฒนาสินค้าชุมชน offline 2 online.-สำนักข่าวไทย
