มักกะสัน 8 ก.ย.-เครือข่ายแรงงาน เรียกร้องยกเลิกค่าจ้างลอยตัว และคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอให้ค่าจ้างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 บาท เพราะค่าครองชีพสูง ย้ำค่าแรงขั้นต่ำต้องเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างน้อย 2 คน ขั้นต่ำ 300 บาทไม่เพียงพอ พร้อมส่งแบบสำรวจความคิดเห็นแรงงานทั่วประเทศ สรุปผล ต.ค.นี้
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พร้อมตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) แถลงข่าว เรื่องการขอให้มีการปรับค่าจ้าง ปี 2561 ว่า เนื่องจากสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันพบว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่เพียงพอ จึงอยากเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าจ้างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ พร้อมยกเลิกค่าจ้างลอยตัวและยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดออกไป เนื่องจากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ตัวแทนของภาคแรงงานอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาค่าจ้าง โดยเสนอให้มีการขึ้นค่าจ้าง ให้เพียงพอกับการครองชีพในปัจจุบัน ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และคนในครอบครัวอีก 2 คน โดยอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม คาดว่าจะอยู่ราว 600-700 บาท
นายสาวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้มีการกระจายแบบสอบถามอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมออกไปสำรวจความคิดเห็นลูกจ้างทั่วประเทศเพื่อตอบโจทย์ข้อสงสัยถึงการได้รับค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่รวมไปถึง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งต้องยอมรับว่าอัตราค่าจ้างเพียง 300-360 บาท ไม่เพียงพอ ดังที่จะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดในรายการศาสตร์พระราชา ถึงเรื่องอัตราค่าจ้างว่า คนเราไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้หากมีอัตราค่าต่อปีเฉลี่ย 100,000 บาท หากจะให้อยู่ได้ต้องมีอัตราค่าจ้างต่อปีอยู่ที่ 300,000 บาท โดยผลสำรวจความคิดเห็นเหล่านี้ เริ่มทำตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมาและทยอยส่งกลับมาแล้ว 20 จังหวัดจาก 77 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะส่งครบทุกจังหวัดและสามารถเปิดเผยผลสำรวจต่อสื่อมวลชนได้ในปลายเดือนตุลาคม .-สำนักข่าวไทย