ประธานองค์กรต้านคอร์รัปชั่น ชี้การป้องกันการคอร์รัปชั่นมีความคืบหน้า

โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ 6 ก.ย.-ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ชี้การป้องกันการคอรัปชั่นมีความคืบหน้า หลังประเทศไทยมีศาลทุจริต สามารถเอาผิดนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงในการระบายข้าวแบบจีทูจีได้


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดเสวนาวิชาการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2560 ภายใต้หัวข้อ รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชั่นเก่า ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงขณะนี้บรรลุเป้าหมายได้ในระดับหนึ่ง โดยสามารถเปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ และปีที่ผ่านมาได้จัดงานภายใต้หัวข้อ กรรมสนองโกง ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีการผลักดันที่ประสบความสำเร็จในด้านการทุจริต อาทิ การตั้งศาลทุจริต การตัดสินการระบายข้าวแบบจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว ที่ลงโทษนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงได้

นายประมนต์ กล่าวว่า ขอให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและบังคับใช้อย่างเที่ยงธรรม ตนจึงหวังให้การปฏิรูปตำรวจนั้นมีผลสำเร็จ ลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นความหวังอย่างหนึ่งว่าการปฏิรูประบบราชการจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นมีผลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังฝากความหวังไว้กับการปฏิรูปการศึกษา ที่จะปลูกฝังการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้กับเยาวชน หากทำได้เยาวชนไทยจะได้รับประโยชน์ การต่อต้านของทุกภาคส่วน มีความคืบหน้าหลายด้าน อาทิ การตัดสินคดีระบายข้าวแบบจีทูจีที่มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว และยังมีการตราพระราชบัญญัติการจัดซื้อตัดจ้างขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ กำหนดให้ประชาชนมีผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อที่สำคัญ ขณะนี้สังคมเริ่มตื่นตัวและกล้าเปิดโปง ซึ่งสะท้อนจากการรายงานการทุจริตผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้น


“ปัจจุบันรัฐบาลได้ปลูกจิตสำนึกโตไปไม่โกงในหลักสูตรการเรียนการสอนของเยาวชนไว้แล้ว ขณะที่ภาคเอกชนมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษนักลงทุนที่เอาเปรียบอย่างเข้มข้น ผมหวังว่าเมื่อไม่มีผู้ให้ ก็จะไม่มีผู้รับ ในอนาคตอันใกล้ การเมืองจะมีการปรับเปลี่ยนด้วยการเลือกตั้ง ทำให้เรามีสิ่งที่ต้องมาทบทวนร่วมกันว่า เราจะทำอย่างไรให้ได้ผู้บริหารที่ดีมีคุณภาพ มีรัฐบาลที่เชื่อมั่นในการตรวจสอบโดยใช้หลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องหาคำตอบ คือ รัฐบาลจะส่งมอบระบบบริหารที่ดีให้รัฐบาลใหม่ได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นมานั้น จะมีความเหมาะสมและจะมีบทบาทอย่างไร ขณะที่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปราบโกง จะทำให้ได้รัฐบาลที่ดีแค่ไหน และประชาชนควรมีบทบาทอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของรัฐบาล ภายใต้ความหวังที่จะได้รัฐบาลใหม่ ไม่กลับไปสู่วังวนเก่า ๆ” นายประมนต์ กล่าว

จากนั้น เข้าสู่เวทีเสวนาในหัวข้อ รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชั่นเก่า โดยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นว่ามีตัวชี้วัดใดที่ทำให้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นลดลง หลังจากการยึดอำนาจในปี 2557 อัตราการจ่ายสินบนลดลง อาจเพราะกลุ่มที่หาผลประโยชน์ชะงักเพื่อดูท่าทีของ คสช. แต่เมื่อเห็นว่า คสช.ไม่เอาจริง กลุ่มดังกล่าวก็จะหาช่องทาง และเริ่มกระบวนการใหม่ สินบนที่เห็นว่าลดลงก็เริ่มกลับมาอยู่ในอัตราเดิม และกลุ่มเหล่านี้จะเห็นช่องทางว่าจะเกาะอำนาจกลุ่มใดด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงมาตรการและกฎหมายที่รัฐบาลออกมา โดยเฉพาะมาตรา 44 ในการโยกย้ายและพักงานข้าราชการกว่า 300 คน แต่กลับไม่มีคนที่ใส่เครื่องแบบสีเขียวแม้แต่คนเดียว จึงสงสัยว่า ทหารไม่คอร์รัปชั่นเลยใช่หรือไม่ บางรายมีการสอบสวนแบบเงียบ ๆ ส่วนที่ลงโทษก็ไม่มีใครรู้ว่าลงโทษอะไร เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ไม่เกิดความมั่นใจของสังคม นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามเรื่องการใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหลายรายควรต้องถูกโยกย้าย แต่กลับไม่ถูกโยกย้าย ดังนั้นจึงเห็นว่า มาตรา 44 แก้ปัญหาใดไม่ได้เลย ส่วนตัวสนับสนุนให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เซ็ตซีโร่ทุกองค์กร ทั้งนี้ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ตนไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจการวินิจฉัยอยู่ที่กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง เพราะเกรงว่าจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเปิดเผยข้อมูลในทุกเรื่อง ยกเว้นแต่เรื่องความลับที่กระทบต่อเศรษฐกิจจริง ๆ ส่วนประชาชนจะตื่นตัวอย่างไรก็เป็นเรื่องของประชาชน

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนเริ่มตื่นตัวและสนใจการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น เช่น ประเทศอินเดีย ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นสูง แต่ปัจจุบันประเทศดังกล่าวกล้าทำอะไรต่าง ๆ มากขึ้น ใช้ระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ทำให้ปัญหาลดน้อยลงไป ในขณะที่ประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงให้เป็น 4.0 ลำดับแรกคือระบบราชการ เพราะระบบราชการเองก็ยอมรับว่าตัวเองยังอยู่ในลำดับที่ 0.4 หรือ -4 เท่านั้น ขณะเดียวกัน ตนเห็นด้วยกับการปฏิรูปกฎหมายของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะหากยิ่งมีกฎหมายมากชึ้น ก็อาจมีคนหาช่องทางเรียกรับสินบนมากขึ้นได้ สิ่งที่ภาคเอกชนอยากจะฝาก คือ การมีส่วนร่วมและการตื่นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมเชื่อว่าหากบังคับใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อการจัดจ้างได้ถูกต้อง ก็จะลดเรื่องการรับสินบนได้


ขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. กล่าวว่า ต้องมาพิจารณาว่าขณะนี้สภาได้ตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่ วงจรต่าง ๆ เดินไปตามปกติหรือไม่ เช่นกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเรื่องข้าว เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า เครื่องมือใดใช้ได้ผล หรือใช้ไม่ได้ผล หากจะคิดถึงผลงานของ คสช. ตนคิดถึงคำสั่งที่ 67/2557 ที่กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานมีหน้าที่ไปดูแลตรวจสอบและจัดการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของตัวเอง หมายความว่า ทุกหน่วยมีหน้าที่ต้องทำ และลงโทษหัวหน้า มีการตรวจสอบให้ ป.ป.ท.รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่าเพิ่มแมวไปจับหนู แต่จนถึงขณะนี้ กลับไม่เคยเห็นรายงานว่าแมวไปจับหนูได้ หรือจับผู้กระทำผิดไม่ได้ ทั้งที่สามารถใช้เครื่องมือนี้ไปเพิ่มแมวเพื่อจับหนูในสังคมได้มากขึ้น

นายภัทระ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ออกแบบเพื่อป้องกันนักการเมืองทุจริตเข้าสู่วงการการเมือง โดยผู้สมัครที่เคยกระทำผิด แม้จะได้รับคะแนนนิยมจำนวนมากแล้วหวังที่จะนำคะแนนนิยมที่ได้มาฟอกตัว จะไม่สามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้ เพราะถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะกลับเข้ามาสู่การเมือง ซึ่งนักการเมืองหลายคนที่ถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินจำคุกในขณะนี้ ในอนาคตจะไม่สามารถกลับสู่การเมืองได้อีก

นายภัทระ  กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดทำงบประมาณที่อาจมีช่องทางการทุจริตนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนรู้เห็นในการใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส สภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน ได้ป้องกันการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งจะกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าต้องไม่ออกนโยบายในการหาเสียงที่จะกระทบต่อสถานะทางการเงินของรัฐบาล ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านมาคือโครงการรับจำนำข้าว ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีการท้วงติงการใช้งบประมาณ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหลักฐานใบเสร็จที่แสดงถึงการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า

นายภัทระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ซึ่ง กรธ.กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ ยังมีการระบุถึงนิติบุคคลที่จ่ายสินบน ซึ่งจะต้องมีความผิด หากมีการจ่ายสินบน เพื่อให้เกิดกระบวนการความร่วมมือในภาคเอกชนได้ตื่นตัวในการไม่จ่ายสินบนและเป็นผู้ส่งเสริมให้มีการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทุจริตในภาคเอกชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยในมาตรา 63 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ อย่างเข้มงวด รวมถึงมีกลไกการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ การต่อต้านหรือชี้เบาะแสโดยต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการในมาตรา 63 ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องการให้เป็นม้าก้านกล้วย แต่ต้องการให้เป็นดาบที่ลงโทษได้อย่างจริงจัง  โดยสิ่งที่ต้องอยู่ในกฎหมายเพื่อรองรับมาตรา 63 คือการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ การคุ้มครองพยาน การชี้เบาะแส และมาตรการป้องกันการจ่ายสินบน

นายภัทระ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน หลักสูตรการอบรมต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวในการสร้างคอนเนคชั่นเพื่อประโยชน์ให้เกิดการทุจริต ซึ่ง กรธ.มีความกังวล โดยเฉพาะองค์กรที่มีบทบาทในการตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ควรเป็นผู้จัดหลักสูตรเอง ขณะที่อุปสรรคในการตรวจสอบที่สำคัญ คือ แต่ละหน่วยงานไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและยังคงหวงอำนาจ ทำให้ยากแก่การที่ประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูล กรธ.จึงมีแนวคิดที่จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการตรวจการแผ่นดิน (คตง.) เนื่องจากพบว่าในแต่ละภาคส่วนมีมาตรฐานการทำงานที่ต่างกัน ซึ่งอาจเกิดช่องทางให้มีการทุจริต โดยจะบรรจุไว้ในกฎหมายลูก ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการเสวนา ได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังการเสวนาได้สอบถามข้อสงสัย ซึ่งมีประชาชนที่ถามถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 25  สิงหาคม 2560 โดยนายประสงค์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวและความอ่อนแอของอำนาจรัฐ ขณะที่นายภัทระ มองว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คลอดลูกแฝดตกตึก

หญิงวัย 31 เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น รพ.ดัง เสียชีวิต

สลด! หญิงวัย 31 ปี เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น โรงพยาบาลดัง เสียชีวิต ด้านโรงพยาบาลแถลงแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมทบทวนมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก

ทหารควง M16 ยิงเพื่อนตำรวจดับคาบ้านพัก

ทหารพรานควง M16 บุกยิงเพื่อนตำรวจเสียชีวิตภายในบ้านพัก ก่อนขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านผู้ตาย เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี เบื้องต้นคนก่อเหตุให้การวกวน เนื่องจากอยู่ในอาการหลอน

ลูกน้องปืนโหดรัวยิงหัวหน้างานดับคา สนง.ปฏิรูปที่ดินฯ

ลูกน้องชักปืนกระหน่ำยิงหัวหน้างานดับกลางห้องทำงาน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.น่าน ก่อนลั่นไกยิงตัวเอง ปมเหตุขัดแย้งเรื่องงาน

จนท.ปะทะเดือด! เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ

ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง นำกำลังปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เกิดการปะทะ เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ ยึดอาวุธสงคราม 3 กระบอก

ข่าวแนะนำ

ขอบคุณทุกคะแนนเสียง เลือกนายก อบจ.-ส.อบจ.เพื่อไทย

“อนุสรณ์” ขอบคุณทุกคะแนนเสียง เลือกนายก อบจ.-ส.อบจ.พรรคเพื่อไทย เชื่อมนต์ขลัง “ทักษิณ”-ผลงานรัฐบาลแพทองธาร เป็นปัจจัยความสำเร็จ

กต.พร้อมพา 5 ตัวประกันไทยกลับบ้านเมื่อสุขภาพแข็งแรง

รมว.ต่างประเทศ เยี่ยม 5 ตัวประกันคนไทย พร้อมพาทุกคนกลับบ้านเมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีแล้ว ขณะที่ทุกคนขอบคุณที่ทำให้ได้ชีวิตใหม่

นายกฯ ฝากรายการใหม่เทปแรก ไล่เรียงนโยบายแบบ Exclusive

“โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร” นักจัดรายการมือใหม่​ ฝากเนื้อฝากตัว หวังใจถึงใจกับประชาชน​ ไล่เรียงภารกิจนโยบายหลายเรื่องแบบเบื้องหลัง Exclusive 30 บาทรักษาทุกที่-บ้านเพื่อคนไทย-แก้ฝุ่น-พ.ร.ก.ไซเบอร์ ยันเงินหมื่นเฟส 3 มาแน่ รอคลังเคาะ นายกฯ รับเสียใจถูกบูลลี่เรื่องแต่งตัว​ แต่จะแต่งแบบนี้ไปทำงานให้ประชาชนมีความสุข