พญาไท 30 ส.ค.- 6 องค์กรสิทธิมนุษยชน ยื่นเเถลงการณ์ถึงรัฐบาลในวันผู้สูญหายสากล เร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เเละตามคดีสอบสวนการหายตัวไปของนักต่อสู้สิทธิไทยกว่า 82 คน ด้านวงเสวนาย้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าใจการทำคดี ญาติหรือเเพทย์สถาบันนิติเวช ต้องหาหลักฐานป้อนเอง
นางซินเทียร์ เวลิโค ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสห ประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประธานการจัดงานเสวนา “วันผู้สูญหายสากล : นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป” ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดขึ้น เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่หายไป และเน้นย้ำความสำคัญและความจำเป็นในการกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา เพราะไทยยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา จึงทำให้นักต่อสู้ในไทยหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยอย่างน้อย 82 คน
ในงานเสวนามีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก อาทิ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ,นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ,นางปิติการณ์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติเเละตัวเเทนครอบครัวผู้สูญหาย
นางอรนุช ผลภิญโญ ตัวเเทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า พบปัญหาเเละความท้าทายในการสืบสวนสอบสวนกรณีของพ่อเด่น คำเเหล้ เเกนนำที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเรื่องป่าไม้เเทนชาวบ้านในชุมชน หลังได้เรียกร้องสิทธิกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่นานกลับหายตัวไป เเละจนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่าหายไปไหน เเม้ชาวบ้านจะพยายามไปเเจ้งความ ตอนเเรกเจ้าหน้าที่ไม่รับ กระทั่งรับเเล้วก็ไม่มีการติดตามต่อเนื่อง ชาวบ้านเองต้องหาข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ชาวบ้านที่เหลือก็อยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ จึงอยากให้รัฐควรมีเเนวทางในการติดตามคนที่สูญหายหรือถูกบังคับให้สูญหายอย่างชัดเจนด้วย
ด้านนายคิงสลีย์ เเอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เเละอำนาจสอบสวนหาเหยื่อผู้เสียหาย โดยต้องระบุให้ได้ว่าเหยื่อนั้นหายไปเอง หรือบังคับให้ถูกสูญหาย รวมถึงการเก็บพยานหลักฐานเเละการสืบค้นสืบสวนหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เเละจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้
ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งปัญหาโรฮิงญา การ ค้ามนุษย์ กลุ่มคนเร่ร่อน,กลุ่มต่างชาติหรือกลุ่มอพยพ รวมถึงคดีฆาตกรรมซับซ้อน ย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน ไม่มีความเข้าใจ หรือทำงานอย่างเต็มรูปแบบในการพิสูจน์หาตัวบุคคลนิรนาม โดยเฉพาะคดีเจนจิรา เป็นกรณีศึกษาที่ตนเเละญาติดำเนินการหาหลักฐานข้อมูลเองเกือบทั้งหมด ทั้งพนักงานสืบสวนมักใช้การรวบรวมข้อมูลมากกว่าใช้นิติวิทยาศาสตร์ อย่างกรณีพ่อเด่น , รัฐกำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายเดียวที่หน้าที่ตรวจพิสูจน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ทำให้สูญหายหรือทำให้เป็นบุคคลนิรนามเอง เเต่ก็เป็นคนทำสำนวนเอง จึงไม่มีทางเเก้ปัญหาได้ ตนพยายามต่อสู้เเละผลักดันระเบียบหรือออกกฎหมายมาตั้งเเต่ปี 2541 จนปี 2558 มีการออกระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี เเต่ฝ่ายบริหารกลับไม่ขับเคลื่อนนโยบายกรือกฎหมาย ยังขาดการทำงานร่วมกันเเละเเบ่งปันข้อมูลพื้นฐานที่เเต่ละหน่วยงานมี
ส่วนนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนเเก่งชาติ กล่าวว่า ชีวิตนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในสายตาของสังคมเต็มไปด้วยอคติ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ เเนะหน่วยงานรัฐต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่เเละรัฐบาลต้องออกกฎหมายรองรับ ดูเเลประชาชนอย่างเต็มที่
ภายในงาน 6 องค์กรสิทธิมนุษยชนอ่านเเถลงการณ์เเละร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อแสดงความกังวลต่อความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย เพื่อเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเร็ว ตลอดจนปัญหาในด้านการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อาทิ นายสมชาย นีละไพจติร และนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ รวมถึงกรณีอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฏหมายอย่างเป็นธรรม
สำหรับปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายในไทยยังพบต่อเนื่อง โดยเฉพาะแกนนำชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหายได้บันทึกเรื่องร้องเรียนกรณีในไทยไว้ทั้งหมด 82 กรณี โดยทั้งหมดนี้ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบและไม่มีการนำตัวคนผิดมารับโทษแต่อย่างใด ซึ่งในไทยไม่มีกฎหมายโดยตรงมาบังคับใช้ แม้เคยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและกระทรวงยุติธรรมร่วมกับตัวแทนภาครัฐได้เสนอรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ พร้อมทั้งได้จัดทำ
“ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ…”เพื่อให้กฎหมายในประเทศเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ครม.มีมติเห็นชอบและให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่วันที่ 21 ก.พ.2560คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับมีมติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคืนให้ ครม. และกระทรวงยุติธรรม โดยไม่ปรากฎเหตุผลที่ชัดเจนของการส่งคืนร่างกฎหมายดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย