ทำเนียบฯ 29 ส.ค. – ครม.เห็นชอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รถเมล์-รถไฟ-รถไฟฟ้า-บขส. ส่วนน้ำประปา-ไฟฟ้าช่วยเหลือแบบเดิม แจกบัตร 21 ก.ย. เริ่มใช้ 1 ต.ค.
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หลังจากรรัฐบาลคัดเลือกผู้มีรายได้น้อยให้ตรงตามคุณสมบัติการรับสวัสดิการแห่งรัฐจาก 14 ล้านคน เหลือ 11.67 ล้านคน ที่ประชุม ครม.จึงเห็นชอบการจัดสรรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านค่าสาธารณูปโภค ประกอบด้วย สวัสดิการสำหรับการเดินทาง รถโดยสารสาธารณะ รถเมล์จ่ายให้เป็นเงิน 500 บาทต่อเดือน , รถไฟ , รถไฟฟ้า วงเงิน 500 บาทต่อเดือน ระยะทางไกล รถ บขส. วงเงิน 500 บาทต่อเดือน ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดวางระบบบัตรแมงมุม เพื่อตัดยอดเงินจากบัตรสวัสดิการ
สำหรับการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับผู้รายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี จ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการ 200 บาทต่อเดือน สำหรับผู้รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จ่ายเงินเข้าบัตรสวัวดิการ 300 บาทต่อเดือน และยังให้นำเงินส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด วงเงิน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน รองรับการใช้บัตรซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เตรียมติดตั้งตามชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้รายย่อยใช้ปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตร ทั้งน้ำปลา ยาสระผม ชุดนักเรียน ปัจจัยต่อการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ห้ามการซื้อบุหรี่ สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ การใช้บัตรสวัสดิการให้ชาวบ้านนำบัตรไปรูดซื้อสินค้าได้ทุกประเภทและใช้บริการโดยสารสาธารณะ หากใช้หมดวงเงินต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง เพราะเป็นการบรรเทาภาระเท่านั้น และหากใช้เงินไม่หมดจะตัดยอดเป็นรายเดือน ไม่สามารถสมทบยอดไปใช้เดือนต่อไปได้ การใช้เงินซื้อสินค้า 200-300 บาทต่อเดือน คาดว่าใช้งบประมาณ 3,615 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 41,940 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐมีเงินจากงบประมาณปี 2561 จำนวน 46,000 ล้านบาท จึงเพียงพอต่อการใช้จ่ายของชาวบ้าน ส่วนแนวทางการช่วยเหลือด้านน้ำประปา ไฟฟ้า ทั้ง 2 หน่วยงานยังช่วยเหลือประชาชนแบบเดิมไปก่อนยังไม่เปลี่ยนแปลง
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำบัตรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บัตรชิพเดียวสำหรับคนต่างจังหวัด และบัตร 2 ชิพ สำหรับคนกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 1.3 ล้านคน ประกอบด้วย กรุงเทพฯ และจังหวัดปทุมธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เนื่องจากเป็นชิพสำหรับใช้บริการรถไฟฟ้าของบัตรแมงมุม หากประชาชนย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งทำบัตรเพิ่มได้ เพราะต้นทุนจัดทำบัตรสูง จึงไม่สามารถผลิตเป็น 2 ชิพรองรับคนต่างจังหวัดเดินทางมาใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้าได้ เพราะคนต่างจังหวัดจะใช้บริการรถไฟ รถ บขส. หากบัตรหายชิพเดียวจ่ายค่าบำรุงบัตรใหม่ 50 บาท บัตรสวัสดิการ 2 ชีพ 100 บาท และบัตรสวัสดิการยังเชื่อมโยงใช้บริการรูดซื้อสินค้าผ่านร้านค้าติดตั้งบัตร EDC ได้เช่นเดียวกัน
ขณะนี้เริ่มทยอยกระจายบัตรสวัสดิการให้กับผู้ลงทะเบียนผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คลังจังหวัด สำนักงานเขต เพื่อเปิดให้ในวันที่ 21 กันยายน ก่อนนำบัตรสวัสดิการไปใช้บริการวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ก่อนเดินทางไปรับบัตรสวัสดิการขอให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนตรวจสอบว่าตนเองถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ ยอมรับว่าการจัดสรรสวัสดิการช่วยลดงบประมาณจำนวนมาก เช่น รถเมล์ฟรีเดิมใช้งบประมาณรองรับ 300 ล้านบาทเดือน หรือ 3,600 ล้านบาทต่อปี รูปแบบใหม่ใช้งบประมาณรองรับ 176 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,100 ล้านบาทต่อปี ลดลงไป 1,500 ล้านบาท เพราะใช้บริการสำหรับผู้ต้องการช่วยเหลือโดยตรง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงคลังเตรียมนำเสนอ ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้กับผู้รายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อฝึกอบรมความรู้ด้านต่าง ๆ เบื้องต้นกำหนดให้กลุ่มคนที่ลงทะเบียนแล้วกลับมาลงทะเบียนอีกรอบ 2 ผ่าน ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน เพื่อยืนยันตัวแทน และเสนอ ครม. คาดว่าการจ่ายเงินจะเริ่มต้นปีหน้า.-สำนักข่าวไทย