กรุงเทพฯ 16 ส.ค.-ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารใหม่ หลังเกิดกระเเสวิพากษณ์วิจารณ์การบูรณะพระปรางค์ ที่อาจผิดเพี้ยนจากแบบเดิม และอาจสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง
พระปรางค์สูงตระหง่านอายุกว่า 200 ปี สัญลักษณ์ของวัดอรุณราชวราราม ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์ สีและลวดลายกระเบื้องที่เปลี่ยนไป มีสีขาวแปลกไปจากสีเดิมที่คุ้นตา จึงเป็นประเด็นถกเถียง ทีมข่าวลงพื้นที่เปรียบเทียบจุดต่อจุด บางจุดยังมีตะไคร่ขึ้น จึงเห็นภาพก่อนเเละหลังบูรณะชัดเจน
อีกจุดบกพร่องจุดหนึ่งที่ช่างฝีมือติง คือ มีการฉาบปูนท่วมกระเบื้องเคลือบ ทำให้มิติลึกตื้นหายไป ลดทอนความสวยงาม เห็นสอดคล้องกับท่องเที่ยวที่มาชมวันนี้ คุณลุงเเละคุณป้าตั้งใจมาดูพระปรางค์หลังบูรณะ พบบางจุดเปลี่ยนไป จากที่เคยเห็นมาตลอดตั้งแต่วัยเรียน เเต่รู้สึกดีที่วัดดูสง่าเเละสะอาด
ผู้ควบคุมการบูรณะพระปรางค์ ย้ำทุกขั้นตอนยึดแบบกรมศิลปากร หากโบราณวัตถุมีสภาพดีกว่าร้อยละ 80 จะคงไว้ ส่วนพระปรางค์ที่ขาวขึ้น คือ สีปูนตำ ที่เป็นวัสดุดั้งเดิม แต่เมื่อทำใหม่สีจึงขาวกว่าเดิม แตกต่างจากการบูรณะเมื่อปี 2538 ที่ใช้ปูนซีเมนต์ฉาบผิว ทำให้เสื่อมสภาพ
ส่วนยอดพระมหามงกุฎ ติดทองเเละประดับพลอยเเทนกระจกที่หลุดไป และไม่ได้ฉาบปูนสีขาวทับลวดลายใดๆ เเต่เพราะสีขาวอาจทำให้มุมมองต่างจากเดิม
กรมศิลปากรชี้เเจงการบูรณะเป็นไปตามกระบวนการช่างศิลป์ไทยอนุรักษ์ศิลปกรรมเต็มรูปแบบ สีขาวคือสีดั้งเดิมตั้งเเต่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 ก่อนบูรณะที่เห็นพระปรางค์สีเข้มเพราะตะไคร่เกาะ ส่วนสีกระเบื้องที่อ่อนลงเพราะพื้นขาว ทำให้ความเด่นของกระเบื้องลดลง ยืนยันใช้กระเบื้องใหม่ร้อยละ 40 หรือ 120,000 ชิ้น ที่เหลือเป็นของเดิม ยอมรับบางจุดอาจฉาบปูนไม่เรียบร้อย ทำให้ลายไม่สวยเช่นเดิม
กระเบื้องของเก่าจากการบูรณะ ส่วนหนึ่งกรมศิลป์ฯ จะเก็บไว้ศึกษา ที่เหลือมอบให้วัด ซึ่งสามารถนำไปทำเครื่องรางได้ เพราะเป็นสมบัติของวัด เเต่ไม่ควรทำ เพราะถือเป็นสมบัติร่วมกันของคนในชาติ.-สำนักข่าวไทย