กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – สนข.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นความเหมาะสมการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี คมนาคมยอมรับมีความเป็นไปได้บรรจุในแผนพัฒนาระบบรางระยะ 2 ที่จะสรุปต้นปีหน้า ด้าน สนข.ยอมรับเป็นโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 6 สาย สามารถดึงคนเข้าระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 สำหรับโครงการศึกษาความเหมะสมรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยอมรับว่าโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมมีความเป็นไปได้จะถูกบรรจุในแผนพัฒนาระบบรางระยะ 2 เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายย่อย หลังจากแผนที่ 1 อนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายหลักไปแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสามารถสรุปแผนทั้งหมดต้นปีหน้า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลถือเป็นโครงการน่าจะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางและแก้ไขปัญหาจราจร เนื่องจากเชื่อมโครงข่ายทั้งระบบรางและระบบทางด่วน โดยระบบทางด่วนจะเชื่อมโครงข่ายทางด่วนตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ หากมีระบบรถไฟฟ้ามาสนับสนุนจะช่วยให้การใช้ระบบขนส่งมวลชนเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ การศึกษาโครงการปัจจุบันแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ 1.พัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างเดียว 2.การพัฒนาด้วยทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 3.พัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ประกอบด้วย โครงข่ายทดแทนระบบทางด่วน N1 และ 4.พัฒนาระบบรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนเส้นทางเดียวกัน
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนสรุปผลเดือนมิถุนายน 2561 โดยยอมรับว่ารูปแบบการก่อสร้างที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ แบบที่ 4 ซึ่งก่อสร้างรถไฟฟ้าและทางด่วนเส้นทางเดียวกัน หากก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารวมด้วยจะเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากพิจารณาตามแนวทางเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลพบว่าจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่น 6 สาย ซึ่งจะสามารถดึงคนเข้ามาสู่ระบบรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ได้มากขึ้นในอนาคต ส่วนระบบรถไฟฟ้าที่จะนำมาใช้จะเป็นรูปแบบใดนั้น จะศึกษาอีกครั้งว่าจะเป็นระบบโมโนเรลหรือไลท์เรล เมื่อได้รายละเอียดทั้งหมดจะทราบงบประมาณลงทุน รวมถึงพิจารณาว่าจะใช้วิธีการลงทุนแบบ PPP หรือดึงเอกชนร่วมลงทุนหรือไม่
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้น มีจุดริ่มต้นโครงการจากแยกแครายเชื่อมรถไฟฟ้าสีม่วงและชมพู หลังจากนั้นจะวิ่งไปตามถนนงามวงศ์วานเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสีแดงสถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตรเชื่อมรถไฟฟ้าสีเขียวเข้มบริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นจะวิ่งไปแนวถนนประเสริฐมนูกิจ และถนนนวมินทร์ และสิ้นสุดถนนรามคำแหง โดยจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มบริเวณแยกลำสาลี ระยะทางรวม 21.5 กม. รวมทั้งใช้เสาตอม่อที่เตรียมไว้แล้วบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างไว้เพื่อเป็นแนวเชื่อมทางด่วนตะวันออกและตะวันตก.-สำนักข่าวไทย