กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – สมอ.โชว์ผลงาน 10 เดือน ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้ากำหนดมาตรฐานกว่า 180 เรื่อง ตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับสู่ประเทศไทย 4.0
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน (ต.ค.59-ก.ค.60) ว่า สมอ.กำหนดมาตรฐานไปแล้ว 187 เรื่อง แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม 8 เรื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต 21 เรื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 124 มาตรฐาน และตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 32 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 187 เรื่อง คาดว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังออกใบอนุญาตให้กับผู้ทำ ผู้นำเข้า 4,058 ฉบับ ตามกระบวนการออกใบอนุญาตที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตเฉลี่ยเพียง 11 วันทำการ/เรื่องเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความซ้ำซ้อน พร้อมทั้งเดินหน้านำระบบสารสนเทศมาใช้ในการออกใบอนุญาต (E-Licence) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอใบอนุญาต คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้
ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ เขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ 200 ไร่ เพื่อดำเนินการโครงการระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและสาธารณูปโภคเสร็จเดือนเมษายน 2561 ขณะนี้ สมอ.อยู่ระหว่างการขึ้นร่างประกาศและเอกสารประกวดราคา และ TOR เพื่อให้วิจารณ์
ด้านการตรวจติดตาม สมอ.ได้ตรวจสอบคุมเข้มร้านค้าอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ช่วงเดือนตุลาคม 2559-มิถุนายน 2560 ยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมูลค่ารวม 1,512.3862 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เหล็ก มูลค่า 1,383.6897 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า มูลค่า 117.4480 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ มูลค่า 8.2940 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ มูลค่า 1.3474 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง มูลค่า 0.8020 ล้านบาท หากพบว่ายังมีผู้ประกอบการและร้านค้ากระทำผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีและมีบทลงโทษตามฐานความผิด สำหรับโครงการ ร้าน มอก.มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 42 ราย 54 สาขา ทั้งร้านค้าทั่วไป และร้านโมเดิร์นเทรด หากผ่านเกณฑ์ของ สมอ.ทั้งหมด ก็จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 50 ราย 488 สาขาทั่วประเทศ และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเชิญชวน บริษัท ซี พี ออล จำกัด (มหาชน) หรือ “เซฟเว่น อีเลฟเว่น” เข้าร่วมโครงการ หากซีพีออลฯ ยินดีเข้าร่วมโครงการจะมีร้าน มอก. เพิ่มขึ้นที่จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้ามาตรฐาน มอก. ได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น
นายพิสิฐ กล่าวว่า งานสำคัญอีกเรื่องของ สมอ. คือ การปรับโครงสร้างของ สมอ.ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลทั้ง Thailand 4.0 S-Curve New S-Curve และสร้างศูนย์บ่มเพาะด้านการมาตรฐาน เพื่อเตรียมเป็นศูนย์กลางด้านการมาตรฐานของ AEC ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ สมอ. จะมีภารกิจเพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐานเพื่อรองรับการถ่ายโอนงานตามมติ ครม.ความตกลงยอมรับร่วมด้านการมาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเติบโตของอุตสาหกรรม คาดว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเข้า ครม.ภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดทำประกาศกฎกระทรวงส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป .-สำนักข่าวไทย