ภูมิภาค 14 ก.ค.-เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำเพิ่ม ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้นกว่า 1 เมตร เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนเตรียมรับสถานการณ์น้ำ เก็บของไว้บนที่สูง พร้อมติดตามข่าวสารจากทางราชการและเฝ้าดูระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นว่าน้ำท่วมยังขยายวงกว้างในหลายหมู่บ้านของตำบลห้วยพุก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร ระดับน้ำท่วมสูง 70 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร 20 เซนติเมตร ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 120 หลังคาเรือน ขณะเดียวกันเริ่มขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด ทางอำเภอและชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องจัดทำครัวสนาม เพื่อปรุงอาหารสำเร็จรูปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนแล้วตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 849 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมง ล่าสุดระบายน้ำอยู่ที่ 1,141 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่อำเภอสรรพยา ระดับน้ำสูงขึ้นจากเมื่อวาน 1 เมตร 24 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 12.44 เมตร (รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 3 เมตร 90 เซนติเมตร ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วยการเก็บของไว้บนที่สูง พร้อมติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเฝ้าดูระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
หลายจังหวัดภาคกลางมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร อย่างที่จังหวัดลพบุรี นาข้าวอายุ 1-2 เดือนของเกษตรกร ถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 3,000 ไร่ โดยทางสำนักงานชลประทานที่ 10 ลงพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เบื้องต้นได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 23 เครื่อง ในพื้นที่ตำบลหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ เพื่อสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ให้เร็วที่สุด ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตข้าวของพี่น้องเกษตรกร
เช่นเดียวกับที่จังหวัดอุทัยธานี วันนี้ทางผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านหนองไผ่แบน นำชาวบ้านช่วยกันกรอกทรายใส่กระสอบปุ๋ยไปวางตามแนวคันกั้นน้ำ ริมแม่น้ำตาก-แดด ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร หลังระดับน้ำในแม่น้ำตากแดดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลักคันกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวแล้วกว่า 500 ไร่ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ส่วนตำบลข้างเคียงอย่างตำบลเนินแจง อำเภอเมือง ก็ถูกน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังเอ่อท่วมนาข้าวแล้วเกือบ 2,000 ไร่
อีกจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดคือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ล่าสุดพบว่าในพื้นที่อำเภอบางบาล เสนา ผักไห่ ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งท่วมถนนในหมู่บ้านและท่วมพื้นที่นาบางส่วน ขณะที่นายทองเปลว ทองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปพบกับชาวบ้านที่ประตูระบายน้ำวัดใบบัว ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเสนา โดยทางชลประทานยืนยันว่าจะยังไม่มีการระบายน้ำเข้าทุ่งใบบัวจนกว่าเกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวเสร็จช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน พร้อมเร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม และเพิ่มเวลาในการสูบน้ำ.-สำนักข่าวไทย