สกศ.12 ก.ค.-คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ สอดรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชี้นำเทคโนโลยี-การศึกษาทางไกลสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้สัมภาษณ์ผลการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 7/2560ว่า ที่ประชุมได้หารือกันหลายเรื่อง เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือที่มักเรียกกันว่าครูตู้ ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่า การที่มีครูไม่ครบจำนวนห้องเรียนหรือวิชาเอกนั้น การแก้ปัญหาไม่ใช่เร่งเพิ่มจำนวนครูไปเรื่อยๆ แต่การศึกษาทางไกลก็สามารถช่วยได้ ทำให้เด็กได้รับความรู้ที่เท่าเทียม ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบนี้ให้ทุกโรงเรียนเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า และนอกจากครูตู้ยังมีโปรแกรมดิจิตอลเลิร์นนิ่ง ซึ่งสามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยที่ประชุมเห็นว่าคณะอนุกรรมการเพื่อการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 5 ชุดได้แก่ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก , คณะอนุกรรมการกองทุน , คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์, คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน ,คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ควรจะนำระบบที่กล่าวมาข้างต้นไปใช้ในการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่นคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ก็ควรเลือกนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้
นพ.จรัส กล่าวอีกว่า เรื่องต่อมาคือวันนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก คณะอนุกรรมการกองทุน คณะอนุกรรมการครู คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน คณะอนุกรรมการโครงสร้างและคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม ซึ่งแต่ละคนผ่านการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายด้าน ซึ่งสามารถเริ่มงานโดยการศึกษาและวิจัยได้ทันทีและหากมีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ก็สามารถทยอยเสนอไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรงได้เรื่อยๆ เว้นแต่คณะอนุกรรมการกองทุนที่ต้องส่งข้อเสนอแนะให้เสร็จภายใน 1 ปี
ขณะเดียวกัน ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ขึ้นใหม่ ซึ่งจะยึดร่างพ.ร.บ.การศึกษาของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดเรื่องการศึกษาในหลายประเด็นที่ไม่มีอยู่ในพ.ร.บ.ฉบับเดิม เช่น การจัดการศึกษาก่อนวัยเรียนที่จะต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องดำเนินการยกร่างให้เสร็จภายใน 2 ปี ส่วนจะมีการกำหนดเรื่องโครงสร้างศธ.ไว้ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่มีการพูดถึง แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง ก็สามารถกำหนดไว้ในกฎหมายลูกได้.-สำนักข่าวไทย