กทม.27ก.พ.-กอปศ.-สภาการศึกษา-สพฐ.ร่วมวิจัยพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียน ป.1-3 เตรียมยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระ หลังพบโรงเรียนติวเข้าเรียนชั้นป.1- เด็กการบ้านและสอบเยอะเกินไป พร้อมนำร่องหลักสูตรในบางโรงเรียน
ศ.กิตติคุณนพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 9/2561ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น(ป.1-3) สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังได้รับเสียงสะท้อนว่าหลักสูตรแกนกลางกำหนดให้เด็กต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งมีมากเกินไป ตัวชี้วัดก็มากตาม เด็กต้องเคร่งเครียดกับการสอบ อีกทั้งครูเองก็ไม่ค่อยมีเวลาให้เด็กเท่าที่ควร เพราะต้องเตรียมสอนและสอบ ขณะเดียวกันพบมีการเรียนติวเพื่อสอบเข้าชั้นป.1ด้วยทั้งที่การเรียนของเด็กในวัยนี้ควรมีความยืดหยุ่นสูง เพราะอยู่ในช่วงปรับตัวและเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จึงควรปฏิรูปหลักสูตร เพื่อตอบสนองผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่อยู่ในโลกปัจจุบันและอนาคตได้
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า กอปศ.จึงร่วมกับสภาการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมวิจัยโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลาให้วิจัยแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ เพื่อนำร่องใช้หลักสูตรในบางโรงเรียน โดยผลการวิจัยนำสู่การยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชา โดยการวิจัยจะเริ่มศึกษาการเรียนในระดับชั้น
ป.1-3 ก่อนขยายผลไประดับชั้นอื่นต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการศึกษาในด้านแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในระบบการศึกษากว่า 11 ล้านคน ซึ่งอยู่ในสถานศึกษาเอกชน 2.5 ล้านคน จากสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบกว่า 12,000 แห่ง ซึ่งหากจะปฏิรูปการศึกษาก็ต้องปฏิรูปโรงเรียนเอกชนด้วย หลังพบว่าที่ผ่านมารัฐยังสนับสนุนไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีการเสนอให้พิจารณารายละเอียดที่ควรให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเอกชนใน 4 ด้าน ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสนับสนุนเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม , คุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ , ส่งเสริมให้โรงเรียนมีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง และให้เอกชนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศ
ขณะเดียวกันการปฏิรูปการศึกษาเอกชนอาจกระทบกับโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการด้วย เพราะสถานศึกษาเอกชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ซึ่งหากมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข เช่น แก้ปัญหาสวัสดิการครูเอกชน ภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้าง การจ้างครูต่างประเทศและการเปิดอนุบาล 3 ขวบ เป็นต้น กอปศ.ก็จะเสนอให้กระทรวงแก้ไขทันทีได้
ทั้งนี้ จะนำรายละเอียดหรือข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆบรรจุลงไปพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติคู่ขนานไปด้วย เพื่อใช้เป็นหลักการปฏิบัติในอนาคต.-สำนักข่าวไทย