ดุสิต14 พ.ย.-คกก.อิสระปฏิรูปการศึกษา เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์นี้ ก่อนออกกฎหมาย เม.ย.ปีหน้า คณะอนุกก.ชี้ตั้งงบช่วยเหลือเด็ก 2-3 หมื่นล้าน
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 25/2560 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดขึ้น ว่า วันนี้ที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ….ที่คณะอนุกรรมการกองทุนการศึกษาได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาร่าง พ.ร.บ. โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์นี้
โดยกระบวนการหลังจากนี้ เมื่อครม.พิจารณาแล้ว จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติและโปรดเกล้าฯเพื่อออกกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ใน ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ สาระสำคัญของกองทุน คือการอุดช่องว่างที่ระบบต่าง ๆ ไม่สามารถดูแลเรื่องความเสมอภาคในสังคม เพื่อลดผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั้งเด็กและครู รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ
ขณะเดียวกันคณะกรรมการอิสระฯ เห็นชอบในหลักการตั้งคณะกรรมการร่างระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.แบ่งเป็น 2 ระเบียบใหญ่ ได้แก่ ใครคือผู้รับทุน เด็กหรือครูกลุ่มใด ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และจะให้ทุนอย่างไร ใช้เงินจากไหน เป็นต้น โดยคณะกรรมการชุดนี้จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อรองรับให้คณะทำงานที่จะต้องสานงานต่อหลังกฎหมายประกาศใช้
ด้านนายไกรยส ภัทราวาท เลขานุการอนุกรรมการกองทุน ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นประชาชน สะท้อนตรง กันว่า แม้ปัจจุบันภาครัฐ จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งโครงการเรียนฟรี15 ปี กองทุนอาหารกลางวันแต่ก็ไม่สามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการจัดสรรเงินรายหัวไปยังสถานศึกษายังไปไม่ถึงเด็ก ปัจจุบันที่เด็กอายุ 3–18 ปีกว่า3 ล้านคน เป็นเด็กยากจนและอยู่นอกระบบการศึกษา ทั้งเด็กยากจนบางคนที่อยู่ในระบบการศึกษาได้รับเงินเพียงวันละ 5-15 บาท จึงต้องเกิดกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กให้เกิดความเสมอภาค โดยย้ำว่ากองทุนนี้ไม่ได้มาทดแทนกองทุนที่มีอยู่ โดยงบประมาณของกองทุนขั้นต่ำที่ตั้งเป้าไว้คือ 2 หมื่นล้านบาทไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท
ส่วนเรื่องที่มาของเงินอาจมาจากภาครัฐและภาคเอกชนและเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาเด็กและครู อยู่ระหว่างการคุยรายละเอียดเพื่อเขียนเป็นกฎหมายลูกต่อไป.-สำนักข่าวไทย