ทำเนียบ 30 มิ.ย.-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าพบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ได้หารือถึงกรณีข้อกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว หลังจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา และมีบทลงโทษที่หนัก คือการปรับสูงสุด 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ซึ่งจากการประชุมกับหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับทราบปัญหาจากการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว และมีการเสนอให้รัฐบาลตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายลูก ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยกับลูกจ้าง กรณีเดินทางกลับประเทศ และการประชาสัมพันธ์การใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ต้องทำอย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย ซึ่งทางภาครัฐรับทราบข้อเสนอทุกข้อและสามารถดำเนินการได้ ยกเว้นข้อแรก ที่ให้จัดตั้งศูนย์จดทะเบียนขึ้นใหม่ในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาติดขัด เนื่องจากไทยได้ลงนามเอ็มโอยูไว้กับพม่า ลาวและกัมพูชา หากไทยเปลี่ยนมาจดทะเบียนในประเทศ ก็จะไม่เป็นไปตามข้อตกลง และจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนต่างด้าว ทะลักเข้ามาในประเทศเพื่อจดทะเบียน โดยผิดกฎหมายการเข้าเมืองและจะมีปัญหากับไอยูยู เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบและให้ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจำเป็นจะต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อจะผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ด้วยการชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตรา ของ พ.ร.ก.ออกไปก่อน ได้แก่มาตรา 101 มาตรา 102 และมาตรา 122 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการการเอาผิดและลงโทษหนัก กับนายจ้างและลูกจ้าง ออกไป 120 วัน และในระหว่างนี้ขอให้ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ทั้งที่ผิดกฎหมายเข้าเมือง หรือผิดกฎหมายเงื่อนไขการได้รับอนุญาตการทำงาน ให้ทุกคนอยู่ในความสงบและไปดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วยนายจ้างก็ใช้มาตรการอย่างเดียวกัน โดยยืนยันว่าไทยยังเคารพพันธะกรณีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่จะต้องทำอย่างจริงจังต่อไป ไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.นี้ มาเป็นอุปสรรคในการต่อต้านการค้ามนุษย์
“เพื่อผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้น จะชลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตรา ของ พ.ร.ก.ออกไปก่อน ได้แก่มาตรา 101 มาตรา 102 และมาตรา 122 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการเอาผิดและลงโทษหนักกับนายจ้างและลูกจ้าง โดยจะเลื่อนออกไป 120 วัน หรือ 4 เดือน และระหว่างนี้จะไม่จับหรือกวดขันแรงงานต่างด้าว ยกเว้นเกี่ยวข้องกับฐานความผิดการค้ามนุษย์ โดยใน 120 วันนี้ ต้องแบ่งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ออกเป็น 2 พวกคือพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต คนกลุ่มนี้ต้องออกนอกประเทศเพื่อไปขออนุญาตให้ถูกต้องในประเทศนั้นๆ ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน กำลังเจรจาขอให้แรงงานต่างด้าวสามารถขออนุญาตได้ที่บริเวณชายแดน โดยมีเจ้าหน้าที่ประเทศนั้นมาตรวจสอบ และจะประสานทางเมียนมาร์ ให้สามารถ ขออนุญาตได้ที่ศูนย์พิสูจน์บุคคลของพม่า 5 ศูนย์ในประเทศไทย ส่วนแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย แต่ทำงานผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ให้ไปสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อเปลี่ยนการทำงานให้ถูกฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่าว่า มาตรการทั้งหมดที่จะผ่อนปรน จะต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่แรงงานในการปฏิบัติ พร้อมยืนยันว่า มาตรการผ่อนปรน ไม่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ได้ขัดเงื่อนไขกับไอยูยู และยังเดินตามแนวทางการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างเข้มแข็งต่อไป.-สำนักข่าวไทย